Climate Change เรื่องที่ SME ต้องให้ความสำคัญในการประกอบธุรกิจ (จบ)

Climate Change เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องเผชิญและได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ประกอบการที่เป็น SMART SME คงจะมีนโยบายที่จะป้องกันความเสี่ยงแล้ว

ความเสี่ยงจาก Climate Change ที่มีต่องบการเงินเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME

อาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญในปัจจุบัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Climate change ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงมาก ทำให้ประชาคมโลกต้องออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสินทรัพย์ และหนี้สินขององค์กร PWC

ประเทศไทย ระบุ Climate Change จะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคต เช่นการซื้อคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าสินทรัพย์ หรือเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่อาจส่งผลต่อการลงบัญชี การออกและเสนอขายเครื่องมือทางการเงินที่มีการกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ตราสารหนี้สีเขียว และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ที่อ้างอิงจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความเสี่ยงของกิจการ ดังนั้น กิจการจะต้องบันทึกดอกเบี้ยตามวิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง และเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่กิจการมีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไป

เรื่องของการประมาณการหนี้สิน ในกรณีที่กิจการมีภาระในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจการจะต้องประเมินถึงผลกระทบกับระยะเวลาในการรื้อถอนและตัวเลขหนี้สินจากประมาณการรื้อถอนในงบการเงิน นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ เช่น เรื่องของสินค้าคงเหลือ จะต้องมีการประเมินมูลค่าว่าลดลงหรือไม่จากการรับคืนสินค้า จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การลดลงของราคาสินค้าเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ถ้ากิจการมีแนวโน้มที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change และกำไรลดลง ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจะได้ใช้หรือไม่

เรื่องที่มีความสำคัญมาก คือ การเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากรายการทางบัญชีหลายรายการ ใช้วิธีประมาณการจากข้อสมมติฐาน กิจการจะต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจ ถึงที่มาของตัวเลข ข้อสมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กิจการกำลังเผชิญอยู่ ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมกระทบกับตัวเลขในงบการเงินหรือไม่ กิจการมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร การใช้ข้อมูลระหว่างฝ่ายบัญชีการเงินและฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกันหรือไม่

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) จำนวน 17 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรในรูปตัวเงินในระยะสั้น โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 Climate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นที่กำหนดให้ทั่วโลกจะต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 กฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่บางเรื่องมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ กิจการจึงควรมีนโยบายการรายงานด้านความยั่งยืนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

เรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องเผชิญและได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ประกอบการที่เป็น SMART SME คงจะมีนโยบายที่จะป้องกันความเสี่ยงแล้ว แต่ผู้ประกอบการ SME ทีได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดจำนวนหนึ่งลำพังจะนำพากิจการให้อยู่รอดได้ก็ยากลำบากแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ต้องวิ่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน พึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก 

หากไม่รีบให้ความช่วยเหลือ เมื่อเผชิญกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ จากเรื่อง Climate Change น่าเป็นห่วงมากครับ…..