รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 27 ธันวาคม 2565

http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
 
                   วันนี้ (27 ธันวาคม 2565)  เวลา 09.00 น.  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

                   1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา)
                   2.       เรื่อง     ร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวม 2 ฉบับ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน)]
                   3.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….
                   4.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
                   5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าป่วยการพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. ….
 

เศรษฐกิจ-สังคม

                   6.       เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565
                   7.       เรื่อง     ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
                   8.       เรื่อง     การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2566
                   9.       เรื่อง     ขอความเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงขององค์การเภสัชกรรม
                   10.      เรื่อง     ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามมาตรการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2565
                   11.      เรื่อง     โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2)
                   12.      เรื่อง     แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570)
                   13.      เรื่อง     มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติและมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ
                   14.      เรื่อง     รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2565
                   15.      เรื่อง     การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา     
                   16.      เรื่อง     (ร่าง) แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
                   17.      เรื่อง     รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย และรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2565 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
                   18.      เรื่อง     ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565
                   19.      เรื่อง     สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 19 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ตุลาคม 2565)
                   20.      เรื่อง     แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
                   21.      เรื่อง     มาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือน มกราคม 2566
                   22.      เรื่อง     การดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทรวงมหาดไทย
                   23.      เรื่อง     การจัดประกันภัยฟรีสำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566
 

ต่างประเทศ

                   24.      เรื่อง     การรับรองกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (ASEAN Pharmaceutical Regulatory Framework: APRF)
                   25.      เรื่อง     การลงนามร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products)
                   26.      เรื่อง     ผลการประชุมหารือ เรื่อง “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ณ ประเทศญี่ปุ่น
                   27.      เรื่อง     การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงสาธารณรัฐคาซัคสถาน
 

                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                   29.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
                   30.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
                   31.      เรื่อง    แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองทดแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง
                   32.      เรื่อง     การเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
 
______________________________________________
 
 
 

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   2. เห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา และร่วมติดตามและประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้เพื่อการจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคและสถานศึกษา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้
                             1.1 กำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม [เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติเป็นสถานศึกษาที่ได้รับบริจาค และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 (สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ไม่ได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอนุมัติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีฯ เป็นสถานศึกษาที่ได้รับการบริจาค ดังนั้น เพื่อให้ประเภทของสถานศึกษาครบถ้วนและไม่เกิดความซ้ำซ้อน จึงกำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยกร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้รวมสถานศึกษาทั้ง 5 ประเภท ไว้ในฉบับเดียวกัน รวมทั้งกำหนดให้การบริจาคให้แก่สถานศึกษา เพื่อสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ ศธ. ให้ความเห็นชอบ]
                             1.2 กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ 1) สถานศึกษาของรัฐ 2) โรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ 3) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 4) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ 5) สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอนุมัติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) และมหาวิทยาลัยอมตะ โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
                   2. กระทรวงการคลังรายงานว่าการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้จะมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท (รวม 3 ปีภาษี ประมาณ 6,000 ล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาจะได้รับบริจาคจากภาคเอกชนตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณของรัฐในด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
 
2. เรื่อง ร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวม 2 ฉบับ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน)]
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวม 2 ฉบับ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน)] รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   2. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมป่าไม้ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งร่วมติดตามและประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้ เช่น มูลค่าเงินลงทุนของโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง และปริมาณกักเก็บคาร์บอนที่ได้ และนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ กค. เป็นรายปีจนสิ้นสุดมาตรการ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้ ทส. กรมป่าไม้ และ อบก. ดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบไปด้วย
                             1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) โดยเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (โดยพระราชกฤษฎีกาเดิมได้สิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563) ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีจำนวนมากขึ้น นำไปสู่การลงทุน การใช้จ่าย และการนำรายได้เข้าประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนต่ำให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
                             1.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน) โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา และขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินที่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 (โดยพระราชกฤษฎีกาเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนให้มีจำนวนมากขึ้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
                   2. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว รวม 2 มาตรการ โดยคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ รวม 394 ล้านบาท ดังนี้
                             2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 210 ล้านบาท
                             2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน) โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีป่าชุมชนได้รับการสนับสนุน 10,246 แห่ง จึงทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวม 184 ล้านบาท
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และให้ ทส. รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   เป็นการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการและหน้าที่และอำนาจของสำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (สป.ทส.) เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ
สป. ทส. พ.ศ. 60
ร่างกฎกระทรวง
แบ่งส่วนราชการ สป. ทส. พ.ศ. ….
หมายเหตุ
ข้อ 3 ให้แบ่งส่วนราชการ สป. ดังนี้
ก. ราชการบริหารส่วนกลาง
(1) กองกลาง
(2) กองกฎหมาย
(3) กองการต่างประเทศ
(4) กองตรวจราชการ
(5) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
(6) กองการบิน
(7) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
 
 
ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด
 
 
คงเดิม
คงเดิม
คงเดิม
คงเดิม
คงเดิม
ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน
(7) สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
– คงเดิม
 
 
ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของกองกลางและกองกฎหมายให้มีความเหมาะสม
 
 
ควบรวมกองฯ กับศูนย์ฯ และเปลี่ยนชื่อใหม่
– จัดตั้งขึ้นใหม่
 
 
 

 
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   2. เห็นชอบมอบหมายให้ สสว. จัดทำข้อมูลดอกเบี้ยรับของโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เป็นรายปีจนสิ้นสุดโครงการและนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ กค. ทุกสิ้นปี เพื่อประกอบการจัดทำรายงานเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการต่อไป
                   กค. เสนอว่า
                   1. การให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง รวมถึงกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ขยายกิจการ ปรับปรุง ซ่อมแซม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของ SMEs โดย สสว. และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 โดย สสว. มีหน้าที่ให้กู้ยืมเงินและ ธพว. มีหน้าที่บริหารจัดการการให้กู้ยืมเงิน
                   2. โครงการตามข้อ 1 มีระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี โดยได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 และเริ่มเกิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการให้กู้ยืมจะนำเข้ากองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อนำไปช่วยเหลือ SMEs ตามความจำเป็นต่อไป การดำเนินโครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการได้รับเงินกู้ 3,197 ราย รวมเป็นเงิน 3,944.55 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยที่ได้รับจริงในปี 2563 – 2564 จำนวน 28.63 ล้านบาท และประมาณการดอกเบี้ยรับตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการจนถึงปี 2570 จำนวน 118.84 ล้านบาท
                   3. ต่อมา สสว. ได้มีหนังสือถึงกรมสรรพากร (กค.) ลงวันที่ 21 เมษายน 2565 ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าการให้กู้ยืมเงินของ สสว. เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับในอัตราร้อยละ 3 (ร้อยละ 3.3 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตามมาตรา 91/1 (5) และ มาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากโครงการของ สสว. ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 สิงหาคม 2562 รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยบรรเทาภาระภาษีให้แก่ สสว. ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย กค. จึงเห็นควรยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของ สสว. เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ซึ่งจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
                   4. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 3.92 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 สิงหาคม 2562 บรรเทาภาระภาษีให้แก่ สสว. และช่วยบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมซึ่งผู้ประกอบกิจการ (สสว.) จะสามารถผลักภาระได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   เป็นการกำหนดให้กิจการของ สสว. เฉพาะรายรับจากการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่โครงการเริ่มมีดอกเบี้ยรับ
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าป่วยการพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าป่วยการพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. …. ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการค่าป่วยการสำหรับพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นต่อการพิจารณาทางปกครอง (“การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง1 เช่น คำสั่งอนุญาตตั้งโรงงาน หรือก่อสร้างอาคาร) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
 

เรื่อง สาระสำคัญ
1. บทนิยาม •“ค่าป่วยการ” คือ เงินที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นไม่ว่าโดยการมา ณ สถานที่นัดหมาย โดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการทำรายงานความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
2. หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ • พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ในกรณีดังต่อไปนี้
          1) กรณีเป็นพยาน ต้องเป็นพยานที่เจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำและพยานนั้นจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ การเรียกพยานมาให้ถ้อยคำดังกล่าว ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์แห่งความยุติธรรมและต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัดหรือผู้ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวมอบหมาย
          2) กรณีเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ต้องเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็น เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
          – หน่วยงานของรัฐที่เป็นต้นสังกัดมิได้มีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็น หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งสังกัดหน่วยงานของรัฐแตกต่างจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งคู่กรณีอ้าง
          – เรื่องที่จะพิจารณานั้นต้องการความรู้ความสามารถสูงหรือความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเป็นการเฉพาะ และ
          – ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่จะเรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นเป็นสาระสำคัญในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง
          ทั้งนี้ การเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นดังกล่าว ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ประสบการณ์เฉพาะด้าน และความเป็นกลางของพยานผู้เชี่ยวชาญ และต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัด หรือผู้ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวมอบหมาย
          หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจจัดทำบัญชีพยานผู้เชี่ยวชาญหรือจะใช้บัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมหรือบัญชีรายชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลอื่นก็ได้
• พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาให้ถ้อยคำหรือความเห็นตามหน้าที่ ไม่มีสิทธิได้รับค่าป่วยการ
3. หลักเกณฑ์และวิธีการสั่งจ่ายค่าป่วยการ • ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นต่อการพิจารณาทางปกครอง สั่งจ่ายตามความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ เมื่อพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้น
กรณีที่พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญมาตามนัด แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้เป็นความรับผิดของพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้รับค่าป่วยการไม่เกินวันละ 500 บาท
หากพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามกฎหมายหรือกฎอื่นแล้ว จะไม่มีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามกฎกระทรวงนี้
4. อัตราค่าป่วยการ • พยานได้รับค่าป่วยการไม่เกินวันละ 1,000 บาท (อัตราเทียบเคียงกับข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักแก่พยานที่ศาลเรียกมาเอก พ.ศ. 2560)
• พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งให้ถ้อยคำได้รับค่าป่วยการไม่เกินวันละ 2,000 บาท (อัตราเทียบเคียงกับข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2560)
• พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้รับค่าป่วยการไม่เกินเรื่องละ 5,000 บาท (อัตราเทียบเคียงกับประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พัก ของบุคคลใดที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมาในการไต่สวน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเดินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2563)

____________________________________
1 “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
     (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
     (2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
 

เศรษฐกิจ-สังคม

6. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่ประชุม กอช. ครั้งที่ 1/2565
                   2. รับทราบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                   3. รับทราบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                   และให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งข้อเสนอแนะของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า การประชุม กอช. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะรองประธาน กอช. เป็นประธานการประชุมมีผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้
                   1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมีแนวทางดำเนินงาน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำและยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร (2) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศและต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมุ่งเน้น 4 กลุ่ม ได้แก่ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health และ Smart Farm และ (3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ ให้บรรลุเป้าหมายโดยใช้งบประมาณประจำปีภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานและ กอช. จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ
                             1.1 ความเห็นที่ประชุม เห็นควรปรับกรอบระยะเวลาของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ จาก พ.ศ. 2565-2570 เป็น พ.ศ. 2566-2570 เพื่อให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และเห็นควรมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาโครงการสำคัญที่ตอบสนองต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งควรมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน
                             1.2 มติที่ประชุม เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ โดยให้ปรับกรอบระยะเวลาเป็น พ.ศ. 2566-2570 และมอบหมายให้ อก. นำความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ อก. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ ตามความเห็นของที่ประชุมแล้ว
                   2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี มีแนวทางดำเนินงาน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยยกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมกัญชงสู่การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ โดยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงให้มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชงในระดับสากล เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล (3) ส่งเสริมด้านการตลาดโดยสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชงไทยได้แสดงศักยภาพและเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชงที่สำคัญในระดับโลก เช่น การสร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้า/การจัดประชุมเกี่ยวกับพืชกัญชง การพัฒนาเชื่อมโยงโลจิสติกส์ และการกระตุ้นอุปสงค์ของหน่วยงานภาครัฐและ (4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ โดยลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสู่สากล การสนับสนุนทางการเงิน/การร่วมลงทุนภาคเอกชน การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจรับรองสารสำคัญและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ ให้บรรลุเป้าหมายจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยใช้งบประมาณประจำปีภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน และมี กอช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ
                             2.1 ความเห็นที่ประชุม เห็นควรดำเนินการ ดังนี้ (1) พิจารณาโครงการสำคัญที่สามารถตอบสนองตัวชี้วัดเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) บูรณาการการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ (3) ผลักดันเรื่องการพัฒนาพืชกัญชงในประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนาเส้นใยจากพืชกัญชง การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) จากพืชกัญชงเข้าสู่การพิจารณาในระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชและสามารถสร้างมูลค่าจากพืชกัญชงได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
                             2.2 มติที่ประชุม เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ และมอบหมายให้ อก. นำความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ อก. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ ตามความเห็นของที่ประชุมแล้ว
                   3. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
                             3.1 แนวทางดำเนินการ
                                      (1) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมายร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน โดยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่พัฒนาเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 54 พื้นที่ 39 จังหวัด ในปี 2570 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างมีส่วนร่วม 3) พัฒนากลไกมาตรการ/เครื่องมือการบริหารเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง 4) บริหารและขยายพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้สอดคล้องกับความยั่งยืน 5) สร้างองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ 6) พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศบนรากฐานสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
                                      (2) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย อก. เห็นควรจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อรักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และป้องกันการสูญเสียโอกาสในการลงทุนด้านอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน 2) เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายหรือความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงาน 3) ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานกู้ยืมเงินเพื่อการปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษให้มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม 4) ปรับปรุงระบบหรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยภายในโรงงาน และ 5) ช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากปัญหาที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ อก. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวได้
                             3.2 ความเห็นที่ประชุม เห็นควรพิจารณารายละเอียดเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น ๆ รวมทั้งเห็นควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์/รายละเอียดของกองทุนฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจน
                             3.3 มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการของกรอบแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (พ.ศ. 2566-2570) และการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และมอบหมาย อก. พิจารณาในรายละเอียดโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   4. กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กอช. ที่ประชุมอนุมัติการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ กอช. จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ กอช. สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
                   5. ประเด็นมอบหมายหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ สรุปได้ ดังนี้

มาตรการ/ดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมและส่งเสริมให้เกิดพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
     (1.1) ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น  
          (1.1.1) ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และยานยนต์สมัยใหม่
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)
            (1.1.2) ศึกษาแนวทางการดึงดูดการลงทุนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
  • กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
  • กระทรวงแรงงาน
  • อก.
  • สกท.
  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
            (1.1.3) สร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากรผ่านโครงการ Talent Mobility Program
   (1.2) การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น
           (1.2.1) ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์เดิมและยกระดับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนตไฟฟ้า สกท.
           (1.2.2) เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
  • อว.
  • อก.
  • สกพอ.
            (1.2.3) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และขยายตลาดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่
  • กระทรวงการคลัง (กค.)
  • อว.
  • อก.
             (1.2.4) สนับสนุนทางด้านการเงิน ได้แก่ มาตรการเสริมแกร่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนและกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาคเอกชน
  • อว.
  • อก.
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
    (1.3) สร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้มีความรู้และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น
            (1.3.1) พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้กับผู้ประกอบการ เช่น การออกแบบวงจรรวมและวงจรดิจิทัล
             (1.3.2) พัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนในการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและวิศวกรรมซอฟต์แวร์

 

              (1.3.3) กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและวิศวกรรมซอฟต์แวร์  
  • อว.
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
  • อก.
(2) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศและต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
     (2.1) สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
            (2.1.1) สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยใช้ผลิตภัณฑ์และการติดตั้งระบบโดยผู้ประกอบการในประเทศ
            (2.1.2) ส่งเสริมให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะสามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรม
    (2.2) กระตุ้นอุปสงค์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น
            (2.2.1) สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและการวิเคราะห์ข้อมูลในโรงงานเพื่อยกระดับไปสู่โรงงานอัจฉริยะ
            (2.2.2) สนับสนุนการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในภาคการเกษตรเพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรอัจฉริยะโดยส่งเสริมให้เกษตรรุ่นใหม่นำระบบหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ โดยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพร้อมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาร่วมกับการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ
  • กค.
  • อว.
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
  • ดศ.
  • อก.
(3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
     (3.1) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศน์ให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น
            (3.1.1) ดึงดูดการลงทุนในอพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ สู่โลกอินเทอร์เน็ต (Intermet of Things: IoT) จากบริษัทต่างชาติ เช่น Google และอาลีบาบา เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

            (3.1.2) จัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น ฐานข้อมูลด้านกำลังคน ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ และด้านห้องปฏิบัติการ เพื่อให้บริการบริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการที่ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

 

    (3.2) ส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ, IoT,5G และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภาพให้กับอุตสาหกรรมไทยโดยสนับสนุนด้านเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • กค.
  • อว.
  • ดศ.
  • อก.

 

    (3.3) ส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ

                   6. ประเด็นมอบหมายหน่วยงานตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ฯ สรุปได้ ดังนี้
 

มาตรการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง เช่น
  • อว.
  • กษ.
  • กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
  • กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
  • อก.
     (1.1) พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรมโดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมกัญชง เพื่อสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงตลอดห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มขีดความสามารถให้ได้มาตรฐานสากลให้แก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
     (1.2) ส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยขึ้นทะเบียนนวัตกรรมเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
(2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ เช่น
  • อว.
  • กษ.
  • ดศ.
  • พณ.
  • กระทรวงมหาดไทย (มท.)
  • สธ.
  • อก.
    (2.1) เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยสร้างผู้ประกอบการให้มีความรู้และทักษะในการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ากัญชงตั้งแต่การยกระดับเกษตรกรในการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม กฎระเบียบทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการยกระดับบุคลากรภาคการผลิตให้ตรงความต้องการ
    (2.2) ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการทั้งด้านผลิตภาพและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจให้รองรับการตลาดสมัยใหม่
(3) ส่งเสริมด้านการตลาด เช่น
  • อว.
  • กษ.
  • ดศ.
  • พณ.
  • สธ.
  • อก.

 

    (3.1) สร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงานการค้ากัญชงระดับโลกเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าไทยมีความพร้อมด้านการแปรรูปพืชกัญชงและเป็นผู้นำการแปรรูปและศูนย์กลางข้อมูลกัญชงในอาเซียน รวมทั้งสร้างพันธมิตรทางการค้าและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ
    (3.2) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการตรวจติดตามและกำกับดูแลกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเริ่มจากแปลงปลูก การวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญและการนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรม
(4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ เช่น
  • กค.
  • อว.
  • กษ.
  • ดศ.
  • พณ.
  • สธ.
  • สสว.

 

    (4.1) พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยจัดตั้งหน่วยวิจัยร่วมในการปรับปรุงกฎระเบียบ เช่น การวิจัยปรับปรุงมาตรฐานปริมาณการปนเปื้อนสาร CBD
    (4.2) ปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกัญชงให้เกิดการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเป็นการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน
    (4.3) สร้างความมั่นคงภาคเกษตร โดยสนับสนุนการดำเนินการเกษตรพันธสัญญา เกษตรอัจฉริยะ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการออนไลน์และการส่งเสริมการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานสากล
    (4.4) พัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และข้อมูลเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการนำงานวิจัยพืชกัญชงไปสู่ระดับอุตสาหกรรม

 
7. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                   เรื่องเดิม
                   1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหา SEA ดังนี้ 1) ปัญหานโยบายและการดำเนินการ SEA 2) ปัญหากฎหมายและระเบียบที่รองรับหรือบังคับให้หน่วยงานหรือเจ้าของแผนงานต้องจัดทำ SEA 3) ปัญหาหน่วยงานรับผิดชอบหลักการดำเนินการและพัฒนาระบบ SEA 4) ปัญหากระบวนการการจัดทำ SEA และ 5) ปัญหาขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ SEA
                   2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สคช. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   ข้อเท็จจริง
                   สศช. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการ SEA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาประเด็นการขับเคลื่อน SEA พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินการในแต่ละปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะด้าน SEA สรุปได้ดังนี้

ปัญหาอุปสรรค/ข้อเสนอแนะ ผลการพิจารณา
1. ปัญหานโยบายและการดำเนินการ SEA  
   1.1 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีการประชุมเกี่ยวกับ SEA เพียงปีละ 1 ครั้ง ทำให้การนำระบบ SEA ไปใช้ประโยชน์ล่าช้ากว่าแผนการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น กพย. ควรให้ความสำคัญกับ SEA เพื่อให้สอดรับกับการปฏิรูปในเรื่อง SEA และ สศช. ควรให้ความสำคัญกับ SEA ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย
  • สคช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับ  ข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยให้ความสำคัญกับ SEA และนำเสนอ กพย. เพื่อทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการ SEA อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับประเด็นการขับเคลื่อน SEA ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จนถึงฉบับที่ 12 แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป็นต้นไป จะอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติ (คณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ : กสย.) ตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. [อยู่ระหว่าง สศช. ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)]
  1.2 คณะกรรมการระดับนโยบายในรายสาขาหรือเชิงพื้นที่หรือคณะกรรมการที่ ครม. มอบหมายให้ทำหน้าที่กำหนดแผนงานในรายสาขาหรือเชิงพื้นที่ยังกำหนดไม่ครอบคลุมแผนงานของหน่วยงานที่ต้องจัดทำ SEA จึงควรกำหนดให้ครอบคลุมตามลำดับความสำคัญของหน่วยงานที่ต้องจัดทำ SEA ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • สคช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยคณะกรรมการระดับนโยบายในรายสาขาฯ จะมีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายระบุ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุให้คณะกรรมการดังกล่าวจะต้องพิจารณาในเรื่อง SEA ดังนั้น จึงได้จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. [อยู่ระหว่าง สศช. ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)] ให้การจัดทำนโยบายและแผนโดยนำ SEA มาเป็นเครื่องมือในการประกอบการดำเนินงาน
  1.3 แผนและแผนงานรวมทั้งโครงการของรัฐที่สำคัญบางโครงการไม่มีการจัดทำ SEA มาก่อน และ SEA บางรายสาขาได้จัดทำมานานแล้ว ดังนั้น รายงาน SEA ที่ได้มักไม่บูรณาการกับสาขาอื่น ๆ ครม. จึงควรสั่งการให้มี SEA ของแผนและโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการ เช่น แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ และรัฐบาลควรให้ สศช. พัฒนาระบบ SEA ให้สมบูรณ์
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดย สศช. ได้ผลักดัน SEA ให้เป็นระบบโดยยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. เพื่อกลั่นกรองและกำหนดแผนให้ต้องจัดทำ SEA และ สศช. ได้หารือกับสำนักงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องการจัดทำ SEA ของหน่วยงานที่ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการจัดทำ SEA อย่างไรก็ตาม ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำ SEA กับโครงการขนาดใหญ่เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ต้องมีการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำ SEA และอาจไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับการจัดทำแผนด้วย SEA สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติ
  เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
2. ปัญหากฎหมายและระเบียบ  
   ปัจจุบันร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ดังนั้น ครม. ควรเร่งให้ความเห็นชอบร่างระเบียบฯ เพื่อให้ระบบ SEA ดำเนินการไปได้ ควรเพิ่มปลัดกระทรวงสาธารณสุขในคณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กสย.) และควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ สศช. ในการจัดทำและติดตาม SEA
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวซึ่งขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างการนำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. เสนอ กพย. พิจารณาและนำเสนอ ครม. ต่อไป และได้เพิ่มปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็น กสย. ในร่างระเบียบฯ ดังกล่าวแล้วสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การดำเนินการขับเคลื่อนงานและการติดตามประเมินผล SEA จะอยู่ภายใต้กลไกของ กสย. โดยมี สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ ตามที่ระเบียบฯ กำหนดไว้
3. ปัญหาหน่วยงานรับผิดชอบหลัก  
   หน่วยงานหลักที่เหมาะสมที่สุดในการรับผิดชอบ SEA ขณะนี้ คือ สศช. ซึ่งยังขาดบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้าน SEA และยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงาน SEA ให้อยู่ในมาตรฐานดังนั้น สศช. ต้องเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านบุคลากรเพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ SEA ต่อไป
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดย สศช. ได้พัฒนาความรู้และประสบการณ์ด้าน SEA ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้าน SEA ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการจัดทำโครงการขับเคลื่อน SEA ร่วมกับที่ปรึกษาในประเทศ และโครงการ SEA นำร่องร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีศักยภาพและความรู้ในการทำ SEA และจัดทำรายการตรวจสอบ (Check list) ของ SEA เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคุณภาพของรายงาน SEA
4. ปัญหากระบวนการการจัดทำ SEA  
   4.1 ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในแผนและแผนงานต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมใน SEA แต่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของ SEA ดังนั้น สศช. ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของ SEA
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดย สศช. ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่อง SEA และจัดทำคู่มือเพื่อการสื่อสารสาธารณะ (คู่มือ SEA ฉบับประชาชน) โปสเตอร์และวิดีทัศน์ ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  4.2 ปัจจุบันยังไม่มีการกลั่นกรองและกำหนดแผนหรือแผนงานที่สมควรต้องทำ SEA สำหรับหน่วยงานที่สำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น สศช. ควรเร่งกลั่นกรองและกำหนดแผนหรือแผนงานที่สมควรต้องทำ SEA
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยการกลั่นกรองเพื่อกำหนดประเภทของแผนที่ต้องทำ SEA ได้กำหนดไว้ในร่างระเบียบฯ ประกอบด้วย 8 แผน ได้แก่    1) คมนาคม 2) พลังงาน 3) อุตสาหกรรม 4) ทรัพยากรน้ำ 5) ผังเมือง 6) เขตพัฒนาพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 7) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ 8) ทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ รายชื่อของแผนจะมีการออกเป็นประกาศกำหนดในรายละเอียดต่อไป
  4.3 รายงาน SEA ของแผนหรือแผนงานของหน่วยงานเจ้าของแผน และ
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดย สศช. ได้จัดทำเว็บไซต์ http://sea.nesdc.go.th
แผนงานที่จัดทำเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น สศช. ควรเผยแพร่รายงาน SEA ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างน้อยต้องผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ด้าน SEA และประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อน SEA ของประเทศ โดยมีรายงาน SEA ที่ได้รวบรวมไว้ ตั้งแต่ปี 2541 มีจำนวนทั้งสิ้น 22 โครงการ
5. ปัญหาขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
   หน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงานซึ่งต้องรับผิดชอบในการจัดทำ SEA ยังขาดความรู้และความเข้าใจ ขาดงบประมาณและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการจัดทำ SEA ดังนั้น สศช. ควรเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความรู้เกี่ยวกับ SEA และควรช่วยเหลือสนับสนุนการขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานที่ต้องจัดทำ SEA
  • สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดย สศช. เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามภารกิจ SEA ได้เตรียมการรองรับภารกิจดังกล่าว ดังนี้ 1) การสร้างความรู้ความเข้าใจในด้าน SEA โดยจัดสัมมนา จัดทำและเผยแพร่วิดีทัศน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป 2) การเสริมสร้างขีดความสามารถและการเรียนรู้ โดยจัดฝึกอบรมทางวิชาการด้าน SEA 3 ระดับ สำหรับผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) การเตรียมการในเรื่องผู้เชี่ยวชาญ SEA ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมจะได้มีการทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ SEA ต่อไป และ 4) การสร้างความพร้อมของหน่วยงานสำหรับ SEA โดย สศช. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ SEA เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนในการขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานที่ต้องจัดทำ SEA โดย สศช. มีแนวทางที่จะหารือกับสำนักงบประมาณที่จะให้การสนับสนุนในการขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานที่ต้องจัดทำ SEA

 
 
8. เรื่อง การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2566 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2566 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายงานว่า รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้านเสถียรภาพการเงิน ในฐานะรองประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2566 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในระยะข้างหน้าในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของอุปทานพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก และ (2) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะปรับลดและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 เมื่อแรงกดดันด้านอุปทานดังกล่าวทยอยคลี่คลายลง แต่อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะปานกลางยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว* ที่อาจเกิดเร็วขึ้น
                   2. ข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2566
                   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2566 โดยการกำหนดเป้าหมายในช่วงดังกล่าวยังมีความเหมาะสม เนื่องจาก (1) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคาอันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (2) ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า และ (3) การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง ร้อยละ 2 มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
                   ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและปัจจัยที่ส่งผลต่อพลวัตเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูงกระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่ง กนง. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
                   3. ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
                   กค. และ ธปท. จะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน และสามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินโยบายการเงินในอนาคต
                   4. ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
                   กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 (ข้อมูล ธปท. ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 6.3) และมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2566 อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ภายนอกประเทศ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้ ดังนั้น กนง. จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมายและจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
                   5. ข้อตกลงในการแก้ไขเป้าหมายนโยบายการเงินหากมีเหตุจำเป็น
                   ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
_________________________________________
* เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแทนการแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียวและการดำเนินธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและก่อมลพิษ โดยตั้งอยู่บนฐานของการพัฒนาแบบยั่งยืนและคำนึงถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศและเศรษฐกิจ
 
9. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงขององค์การเภสัชกรรม
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอการขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดังนี้

ระดับ1 อัตรา (บาท)
อัตราเดิม อัตราใหม่ (ข้อเสนอในครั้งนี้)
9 95,810 118,020
10 104,310 127,020
11 113,520 138,270

 

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอเรื่องการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงของพนักงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระดับ 9 – 11 เพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ รวมถึง อภ. จะปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงของพนักงานในระดับ 1 – 8 ต่อไป แต่โดยที่การปรับขยายดังกล่าวไม่เกินกรอบเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของ อภ. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (113,520 บาท) จึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมที่สามารถดำเนินการเองได้ โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการปรับปรุงเพดานอัตราเงินเดือนของพนักงาน อภ. จะใช้จ่ายจากงบประมาณของ อภ. ซึ่งไม่กระทบต่อภาระงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับปรุงให้อัตราค่าจ้างของ อภ. สะท้อนปริมาณและคุณค่าของภารกิจที่ผู้ปฏิบัติงานของ อภ. ต้องรับผิดชอบมากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และช่วงที่ทุกประเทศควรเตรียมพร้อมตั้งรับวิกฤติที่อาจเกิดจากโรคอุบัติใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเพดานอัตราเงินเดือนที่ อภ. ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเพดานอัตราเงินเดือนที่ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2550 ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การขยายเพดานอัตราเงินเดือนตามที่ สธ. (อภ.) เสนอในครั้งนี้ เป็นการขยายเส้นทางอาชีพที่อาจดึงดูดและรักษาผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพของ อภ. ไว้ได้อีกทางหนึ่ง
________________________________________
1 อภ. แจ้งว่า พนักงานระดับ 9 ประกอบด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการโรงงาน 9 ผู้จัดการประกันคุณภาพ 9 รองผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้เชี่ยวชาญ 9 พนักงานระดับ 10 ประกอบด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้จัดการโรงงาน 10 ผู้จัดการประกันคุณภาพ 10 ผู้ช่วยอำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญ 10 และพนักงานระดับ 11 ประกอบด้วยตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
 
10. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามมาตรการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามมาตรการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 9,880 คน ระหว่างวันที่ 11 – 25 สิงหาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
                             1.1 แหล่งข้อมูลที่รับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ (ร้อยละ 84.9) สื่อสังคมออนไลน์ (เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูป) (ร้อยละ 60.9) พูดคุยกับเพื่อน ญาติ คนในครอบครัว และบุคคลทั่วไป (ร้อยละ 36.6) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เช่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน) (ร้อยละ 18.7) ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุน้อย และผู้ที่มีการศึกษาสูงมีการติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากและผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า
                             1.2 การมีบทบาทของประชาชนในพื้นที่ ชุมชน และหมู่บ้าน เช่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กรรมการหมู่บ้าน และนิติบุคคลบ้านและคอนโด (ร้อยละ 12.7)   และไม่มีบทบาท (ร้อยละ 87.3) ทั้งนี้ ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีบทบาทสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 19.2) ขณะที่ภาคอื่นมีน้อยกว่าร้อยละ 15 และผู้ชายมีบทบาทสูงกว่าผู้หญิง รวมทั้งผู้ที่มีอายุ 50 – 59 ปี มีบทบาทสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น
                             1.3 การมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาทุกครั้ง (ร้อยละ 65.4) เกือบทุกครั้ง (ร้อยละ 19.7) เป็นบางครั้ง (ร้อยละ 6.8) นาน ๆ ครั้ง (ร้อยละ 2.8) และไม่มีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งเลย (ร้อยละ 5.3)
                             1.4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในรอบปี 2564 พบว่าประชาชนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในกลุ่มเพื่อน ญาติ คนในครอบครัวและคนรู้จัก (ร้อยละ 84.1) การชักชวนเพื่อน ญาติ คนในครอบครัว และคนรู้จัก ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ร้อยละ 82.3) ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาประเทศ (เช่น เสียภาษี ปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นพลเมืองที่ดี) (ร้อยละ 81.7) และติดตามผลคะแนนการเลือกตั้ง (ร้อยละ 80.8)
                             1.5 ความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาลในภาพรวม ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบ    ธรรมาภิบาลมาก (ร้อยละ 7.7) ค่อนข้างเชื่อมั่น (ร้อยละ 39.6) กลาง ๆ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 38.8) ไม่ค่อยเชื่อมั่น          (ร้อยละ 11.2) และไม่มีความเชื่อมั่นเลย (ร้อยละ 2.7)
                             1.6 การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนระบุว่าหน่วยงานภาครัฐได้เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล คำปรึกษาหารือ ความคิดเห็น ในเวทีหรือกระบวนการรับฟังความเห็นอยู่ในระดับปานกลาง – มากที่สุด (ร้อยละ 62.3) ระดับน้อย (ร้อยละ 25.1) และระดับน้อยที่สุด/ไม่มีเลย (ร้อยละ 12.6)
                             1.7 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ อยู่ในระดับปานกลาง-มากที่สุด (ร้อยละ 65.1) มีความพึงพอใจระดับน้อย (ร้อยละ 24.1) และมีความพึงพอใจระดับน้อยที่สุด/ไม่พึงพอใจเลย       (ร้อยละ 10.8)
                             1.8 ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับมากขึ้น (ร้อยละ 45.1) 2) หน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่สอบถามความต้องการ และรับฟังปัญหาอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 37.4) และ 3) หน่วยงานภาครัฐต้องมีความเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ (ร้อยละ 36.6)
                   2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
                             2.1 ควรมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ (เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ) ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
                             2.2 ควรมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่น ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ (เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้ง และการรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิและขายเสียง)
                             2.3 ควรส่งเสริม/สนับสนุน/เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการเข้าร่วม/มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่น เช่น การแสดงความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ การเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์โครงการที่สำคัญในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                             2.4 ควรมีการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในและนอกระบบการศึกษา หรือเผยแพร่ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมประชาธิปไตย การเคารพความเห็นที่แตกต่าง สิทธิและหน้าที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมตามช่องทางและกระบวนการต่าง ๆ
 
11. เรื่อง โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562] ดังนี้
                   1. ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 ภายใต้กรอบงบประมาณการชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 จำนวน 5,250 ล้านบาท
                   2. ขยายระยะเวลาการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลเพื่อชดเชยดอกเบี้ยออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2571
                   3. การปรับชื่อโครงการจาก โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2) โดยขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายและการดำเนินการตามแนวทาง BCG Model ภายใต้หลัก SDGs และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือภาครัฐหรือเอกชน
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562) กค. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ รายละเอียด
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่
30 กันยายน 2565
(ยอดจ่ายสินเชื่อ)
ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อสะสม จำนวน 22,933.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.87 ของวงเงินสินเชื่อ (วงเงิน 50,000 ล้านบาท)
ข้อจำกัด ปัญหา
และอุปสรรคที่ผ่านมา
1) เกษตรกร ผู้ประกอบการ และกลุ่มเป้าหมายได้รับผลกระทบจากมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลให้เสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ
2) ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามรวมกลุ่มและงดการจัดกิจกรรม ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาดังกล่าวหยุดชะงักหรือชะลอตัว ทำให้กลุ่มเป้าหมายยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามโครงการได้
แนวทางการแก้ไข เช่น 1) สื่อสาร ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินงานให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มเป้าหมาย และผู้ที่สนใจ เช่น สื่อสารผ่านช่องทางเว็บไซต์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
2) พัฒนาและปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงาน โดยขยายขอบเขตวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจและตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจชุมชนเดิม รวมทั้งการดำเนินธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3) ปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. กำหนดแผนงานอบรมพัฒนาเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งการดำเนินธุรกิจชุมชนให้กับชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ธุรกิจชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำที่พัฒนาเป็นกลุ่มผู้ผลิตตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนสร้างไทยเพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ
4) ธ.ก.ส. และส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนกำกับและติดตามการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการ

                   2. กค. เห็นว่า เนื่องจากโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยสิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ดังนั้น เพื่อให้โครงการดังกล่าวยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการสนับสนุนสินเชื่อในการปฏิรูปภาคการเกษตร การสร้างกิจกรรมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model กค. จึงขอปรับชื่อโครงการ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยที่คณะรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 สรุปได้ ดังนี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
มติคณะรัฐมนตรี
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562
ขอปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้
1. ชื่อโครงการ
โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2)
2. วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มเป้าหมายในการปฏิรูปภาคการเกษตร การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาการตลาด การสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน การสนับสนุนโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ เป็นต้น (1) เพื่อสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน พัฒนา การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในห่วงโซ่การผลิต หรือดำเนินการตามแนวทาง BCG Model ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต
(2) เพื่อพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิตของลูกค้าเพื่อรองรับการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนวัตกรรม สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพหรือธุรกิจให้อยู่รอด เติบโต เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
(3) เพื่อให้เกิดกิจกรรมรูปแบบการเชื่อมโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร อย่างเกื้อกูล แบ่งปัน เป็นธรรม ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงยั่งยืน
3. กลุ่มเป้าหมาย
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชนสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เกษตรกร บุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร รวมถึงลูกค้า Smart Farmer1 ชุมชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาของ ธ.ก.ส. และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่พัฒนาเป็นกลุ่มผู้ผลิตตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
4. วงเงินสินเชื่อ
50,000 ล้านบาท คงเดิม
(ปัจจุบันคงเหลือวงเงินสินเชื่อประมาณ 27,066.78 ล้านบาท)
5. ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้
(1) เงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ กำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน พิเศษไม่เกิน 18 เดือน
(2) เงินกู้เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการ กำหนดชำระคืนตามความสามารถในการชำระหนี้และที่มาของรายได้
คงเดิม
6. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี (ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568) ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของ ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ยคงเดิม โดยรัฐบาลชดชดเชยให้ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2571
7. ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568
8. งบประมาณที่ขอรับชดเชยจากรัฐบาล
กรอบวงเงินงบประมาณที่ชดเชยให้กับ ธ.ก.ส. รวมทั้งสิ้น 5,250 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และมีระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยภายใน 3 ปี นับแต่วันกู้ ทั้งนี้ ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2568 (30 พฤศจิกายน 2568) – กรอบวงเงินงบประมาณที่ชดเชยให้กับ ธ.ก.ส. ยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณชดเชยเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้ รวมทั้งสิ้น 5,250 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธ.ก.ส. ได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลแล้วจำนวน 438.56 ล้านบาท คงเหลือวงเงินอีกจำนวน 4,811.44 ล้านบาท
ธ.ก.ส. ขอขยายระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2571
9. เงื่อนไขอื่น ๆ
NPLs ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ไม่นำมาคำนวณเพื่อประเมินผลตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และให้เป็นโครงการ PSA คงเดิม

 ____________________________________
1 Smart Farmer คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูลหรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้ได้มากที่สุดภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด
 
12. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐรายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับรองร่างแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3 – 4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับในปี 2568 – 2570 มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 และ 2569 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 – 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ในปี 2570 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งการบริโภคและการลงทุนและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 – 2.2 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3 และร้อยละ 1.4 – 2.4 ในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
                   2. สถานะและประมาณการการคลัง
หน่วย : ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2566 2567 2568 2569 2570
รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,490,000 2,757,000 2,867,000 2,953,000 3,041,000
   อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.8 10.7 4.0 3.0 3.0
งบประมาณรายจ่าย 3,185,000 3,350,000 3,457,000 3,568,000 3,682,000
   อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 2.7 5.2 3.2 3.2 3.2
ดุลการคลัง (695,000) (593,000) (590,000) (615,000) (641,000)
   ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) (3.70) (3.00) (2.84) (2.81) (2.79)
หนี้สาธารณะคงค้าง 11,161,778 11,879,863 12,573,606 13,209,264 13,796,678
หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP
(ร้อยละ)
60.64 61.35 61.78 61.69 61.25
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 18,781,100 19,776,500 20,785,100 21,865,900 23,002,900

ที่มา: กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                             2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 – 2570 ข้างต้น จัดทำภายใต้สมมติฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมาและนโยบายการคลังที่จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในระยะปานกลาง โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี รายได้รัฐบาลสุทธิมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงเท่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสมมติฐานการบริโภคในระยะปานกลางขยายตัวไม่สูงมากนัก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ รายได้รัฐบาลอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตและยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า
                             2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 – 2570 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 – 4.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ กำหนดให้สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0 – 3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมทบค่าใช้จ่าย เป็นต้น
                             2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและประมาณการงบประมาณรายจ่าย ตามข้อ 2.1 และ 2.2 จะส่งผลให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 – 2570
                             2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 – 2570 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2570) ที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติเห็นชอบไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 10,373,938 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ของ GDP เป็นต้น
                   3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง
                   ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง จะยึดหลัก “Sound Strong Sustained” โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง        รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย        และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต ดังนั้น เป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จึงมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
 
13. เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติและมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติและมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   ศสช. รายงานว่า คสช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติและมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ1 ประเทศไทยมีประชากรแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในอาเซียนและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสาเหตุหลักของความต้องการแรงงานสูงขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดต่ำ และจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเพื่อรักษากำลังแรงงานและระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแต่ยังขาดการบูรณาการประเด็น              แรงงานข้ามชาติในแผนพัฒนาประเทศ มาตรการว่าด้วยแรงงานข้ามชาติที่มีลักษณะเฉพาะหน้าชั่วคราวที่มุ่งเน้นการควบคุมการเคลื่อนย้ายมากกว่าการบูรณาการเข้ากับตลาดแรงงานและระบบประกันสุขภาพ/สังคม นำมาสู่ความลักลั่นกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ2 และบริการสุขภาพซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสุขภาพ และความเป็นปึกแผ่นทางสังคมและในภาวะวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ  จึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพสูงและก่อให้เกิดภาระการคลังสุขภาพ3 ดังนั้น เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพมีหลักประกันสุขภาพที่เข้าถึงและได้รับบริการอย่างเป็นธรรมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นจึงมีมติเห็นควรให้มีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้

กระบวนการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. การบูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่นโยบายพัฒนาประเทศ
– พัฒนายุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ เช่น นโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ โดยพิจารณาแรงงานข้ามชาติในฐานะองค์ประกอบสำคัญของตลาดแรงงานไทยไม่ใช่ในฐานะแรงงานชั่วคราว เพื่อรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาวะที่สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ รวมถึงพิจารณาให้มีความสมดุลระหว่างมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ สิทธิมนุษยชน และความมั่นคง
 
ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ. 2561-2570) ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงาน               ข้ามชาติซึ่งมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง
โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมือง และมุ่งเน้นในระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงมหาดไทย
(มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ                         (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(สำนักงาน กสม.)
 
– พัฒนากฎหมายสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพและบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในฐานะพลเมืองทางเศรษฐกิจ และพัฒนายุทธศาสตร์ระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน  
จัดตั้งคณะทำงาน “กิโยตินกฎหมาย” บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ (Migrant Regulatory Guillotine) เพื่อทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและนำไปสู่การลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวกและสร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอน กระบวนการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศ และการย้ายงานของแรงงานข้ามชาติ  
กำหนดให้มีตัวชี้วัดเชิงผลลัพธ์เกี่ยวกับแรงงาน             ข้ามชาติในแผนการดำเนินงานของกระทรวง และจัดสรรงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินงานอย่างเหมาะสม  
2. การพัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการพำนักอยู่ในประเทศไทยและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม
กำหนดแนวทางพัฒนาระบบประกันสุขภาพและระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ                 บนพื้นฐานของระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงความมีเสถียรภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ผลักภาระความเสี่ยง               ด้านการคลังสุขภาพไปยังหน่วยบริการสุขภาพ สอดคล้องกับระดับรายได้และความสามารถที่จะจ่ายของแรงงานข้ามชาติ มท. รง. สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และ              สปสช.
ศึกษาการกำหนดอัตราค่าประกันสุขภาพและการจัดเก็บที่สอดคล้องกับระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงานข้ามชาติแต่ละกลุ่มบนพื้นฐานข้อมูลการใช้งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนบริการของหน่วยบริการแต่ละระดับ และการบริหารจัดการงบประมาณที่รัฐจัดเก็บจากแรงงานข้ามชาติผ่านค่าธรรมเนียมในการเข้าเมืองและการขอใบอนุญาตทำงาน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับระดับรายได้และความสามารถที่จะจ่ายของแรงงานข้ามชาติ
เชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกันตนในกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม และพัฒนายุทธศาสตร์จัดตั้งหน่วยบริการรับเรื่องร้องเรียนที่แรงงานข้ามชาติเข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร
3. การพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติหนาแน่น และจัดบริการเชิงรุกมุ่งส่งเสริมป้องกันโรคและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ
พัฒนายุทธศาสตร์หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติหนาแน่นทั้งในเขตเมือง พื้นที่ชายแดน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจัดบริการเชิงรุกมุ่งส่งเสริม ป้องกันโรคและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ พัฒนาแนวทางส่งเสริมบทบาทร้านขายยาให้เป็นหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิหนุนเสริมบทบาทเภสัชกรในการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ สนับสนุนบริการล่ามแปลทางโทรศัพท์ และพัฒนาแนวทางสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนที่เชื่อมโยงกับการบริการปฐมภูมิจากหน่วยบริการในหลายช่องทาง กต. มท. รง. สมช. สศช. ตช. สปสช. และ กทม.
กำหนดกรอบอัตรากำลังและงบประมาณประจำปีในการจัดจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในทุกระดับและพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.)4 ให้สอดคล้องกับ
สัดส่วนประชากรแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)5 และจัดให้มี อสต. อย่างเพียงพอพร้อมงบประมาณสนับสนุนให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติหนาแน่น
 
จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขยายจำนวนโรงพยาบาลหรือคลินิกเครือข่ายประกันสังคมและสถานพยาบาลที่รองรับบัตรประกันสุขภาพของ สธ.ให้สามารถรองรับผู้ประกันตนทั้งในระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น และพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการร่วมจัดบริการสุขภาพ รวมทั้งจัดให้มีข้อมูลสิทธิประโยชน์ประกันสังคม/ประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติบนเว็บไซต์ ประกันสังคมและ สธ. และจัดทำระบบสารสนเทศและแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ
พัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนร่วมกันเพื่อยกระดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (Global Health Security Index: GHI) ของประเทศไทย6 และประเทศเพื่อนบ้าน
 
พัฒนาแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและบริการสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติและพัฒนาแนวทางการผลักดันมิติเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
4. การพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้
พัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จัดทำมาตรฐานเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบเพื่อการใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงเชื่อมต่อฐานข้อมูลของหน่วยบริการต่อหน่วยบริการเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มท. รง. สธ. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (กรมประชาสัมพันธ์) ตช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พัฒนานวัตกรรมการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพและส่งเสริมการเข้าถึงระบบสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น เว็บไซต์สื่อสารข้อมูลสุขภาพในภาษาของแรงงานข้ามชาติ และกิจกรรมส่งเสริมเรียนรู้ความหลากหลายของกลุ่มประชากรในชุมชน รวมทั้งให้มีแนวทางสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง                สถานประกอบการที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมและประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของแรงงาน              ข้ามชาติ  
– พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มสมรรถนะทางวัฒนธรรมของนักศึกษาแพทย์/สาธารณสุข/พยาบาล
– สร้างความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อการเป็นพลเมืองทางเศรษฐกิจของแรงงานข้ามชาติ เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสังคม
– พัฒนาแนวทางในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และองค์ความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ

 
                   2. มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ7 บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ8 เป็นบุคคลที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังไมได้รับสิทธิการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนสัญชาติไทย ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ หากไม่มีการบูรณาการกลไกประสาน เชื่อมโยง และติดตามการดำเนินงาน รวมถึงการหนุนเสริมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายจะทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ                สิทธิประโยชน์บริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง ตามหลักการของสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นจึงมีมติเห็นควรให้มีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้

กระบวนการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. การพัฒนา ปรับปรุงมาตรการ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติการรับรองการเกิด และมาตรการเชิงรุก การจดทะเบียนครบขั้นตอนทันทีหลังการเกิดเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น
– ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและดำเนินการพัฒนากลไกการทำงานเชิงรุก รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมาตรการจูงใจและมาตรการติดตามให้กลุ่ม  คนไร้รัฐไร้สัญชาติมีการวางแผนครอบครัว ฝากครรภ์ และคลอดบุตรในสถานพยาบาลได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังคลอดและมีสิทธิตั้งแต่แรกเกิดในการมีชื่อ สิทธิในการได้รับสัญชาติเพื่อการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มท. และสธ.
ติดตามการดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิดและหนังสือรับรองการตายทั้งในและนอกโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล กรณีที่เด็กตกสำรวจสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนออกหนังสือรับรองการเกิดย้อนหลังได้และครอบคลุมถึงการคลอดที่บ้านหรือพื้นที่ห่างไกลที่ให้บุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็กเช่น หมอตำเย ผู้ทำคลอด เพื่อนบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นพยาน เพื่อสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับแจ้งเกิดที่ยังไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สถานะบุคคล
– สนับสนุนด้านเทคนิค และ/หรืองบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมีดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนและศึกษาแนวทางการกระจายอำนาจในกระบวนการพิจารณาอนุมัติการพัฒนาสิทธิในสถานะและสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
2. การดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริม              การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ขยายบริการ และสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับกลุ่มเด็กและเยาวชนสัญชาติไทยเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ข้อ 2 ที่จัดให้เด็กได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพและสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติและให้ความเป็นมิตร
เร่งดำเนินการคุ้มครองด้านสุขภาพ สวัสดิการสังคมที่จำเป็นขั้นพื้นฐานรวมถึงการสื่อสารให้กับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างทั่วถึงทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงสถานการณ์วิกฤตเร่งด่วนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการสร้างเสริมสุขภาพ                การให้วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็น การป้องกันโรค                  การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาให้กับบุคคลและสถานพยาบาลภาครัฐที่ให้บริการด้านสาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคมให้มีความยั่งยืนและถาวร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของทนุษย์ (พม.)  อว. มท. สธ. และ สปสช.
 
– สำรวจ ติดตาม เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับกระบวนการรับรองสิทธิหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการสังคมของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กไร้รากเหง้าที่ยังไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรและที่ตกสำรวจ และเด็กที่เกิดในประเทศไทยให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกับคนไทย  
3. การพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้  เผยแพร่สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจ
พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและการจัดการฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาระบบกำกับ ติดตามการใช้บริการสุขภาพการใช้งบประมาณ การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว และค่าบริการทางการแพทย์ พม. อว. มท. ศธ. สธ. สปน. (กรมประชาสัมพันธ์) สำนักงบประมาณ (สงป.) สมช. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงาน กสทช. สปสช. และ สสส.
– กำหนดกรอบวิจัยเชิงรุกเป็นประจำปีในประเด็น                  การแก้ไขปัญหา การสร้างความตระหนักรู้และป้องกันภาวะความไร้รัฐไร้สัญชาติทั้งในมิติด้านกฎหมาย                 การพัฒนานโยบาย การศึกษา และการจัดสวัสดิการสาธารณสุขและสังคมขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับคนไทย  
– ผลิตและสนับสนุนการจัดทำสื่อให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างทัศนคติที่ดีในการเป็นพลเมือง และสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมทั้งพัฒนามาตรการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  
รณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพ การสำรวจสถานการณ์เข้าถึงบริการสุขภาพทั้งในด้านการป้องกัน รักษา การจัดสวัสดิการด้านโภชนาการ ด้านการดูแลสุขภาพในสถานศึกษาของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงสนับสนุนการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติให้สามารถเข้าถึงที่อยู่ในสถานศึกษา                       ศูนย์การศึกษาทั้งของรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยตลอดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระหว่างที่เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ในกระบวนการคืนสิทธิด้านสุขภาพและสถานะสัญชาติ
 
4. การรายงานวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์และผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อครบ 2 ปี
พัฒนาให้มีกลไกในการติดตามสถานะการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและรายงานต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อครบ 2 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

                  
1แรงงานข้ามชาติ หมายถึง ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ระหว่างหางานหรือกำลังทำงานในประเทศไทยหรือเคยหางานหรือเคยทำงานแต่ไม่สามารถทำงานต่อได้และยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยรวมถึงผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติด้วย (ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติในกรณีของการย้ายถิ่น คู่สมรสและบุตรที่มีอายุไม่เกิน สิบแปดปี โดยรวมถึงคู่สมรสโดยพฤตินัยและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง
2สิทธิด้านสุขภาพ หมายถึง สิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยไทยมีการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติใน 2 ระบบ คือ (1) ระบบประกันสังคมภายใต้การดูแลของ รง. และ (2) ระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวภายใต้การดูแลของ สธ. โดยในปี 2563 มีแรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานราว 2.51 ล้านคน โดยเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวน 1.06  ล้านคน และเป็นผู้ประกันตนในระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าว จำนวน 0.78  ล้านคน อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีแรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานแต่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนทั้ง 2 ระบบ จำนวน 0.67 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน
3การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศในช่วงปี 2563-2564 โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.5 พันล้านบาท ในปี 2563 เป็น 8.6 พันล้านบาท ในปี 2564
4สถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่หนาแน่นจะจ้าง พสต. เพื่อช่วยเผยแพร่ความรู้และเฝ้าระวังโรคใน ชุมชน เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารและความแตกต่างด้านสังคม วัฒนธรรม
5การนำคนข้ามชาติมาอบรมเพื่อทำหน้าที่ดูแลสุขอนามัยและสาธารณสุข รวมถึงป้องกันโรคในกลุ่มคนข้ามชาติด้วยกัน เพื่อลดปัญหาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจด้วยภาษาที่ต่างกันและความไว้เนื้อเชื่อใจ
6ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลกเป็นการประเมินความมั่นคงด้านสุขภาพ / อนามัยของประเทศ 195 ประเทศ รวมถึงความพร้อมในการรับมือวิกฤตโรคระบาด โดยในปี 2563 ประเทศไทยได้อันดับที่ 5 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 25 ปี ที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีประเทศใดรับรองผู้นั้นว่าเป็นราษฎรหรือพลเมืองประเทศนั้นหรือเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติของประเทศใด
8อนุสัญญาว่าด้วยสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติได้ให้ความหมายของคนไร้รัฐไร้สัญชาติว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นคนชาติจากรัฐใดภายใต้บทบัญญัติกฎหมายของรัฐ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดคำว่า คนไร้รัฐ หมายถึง คนที่ไม่ถูกบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐ และคนไร้สัญชาติ หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการบันทึกสถานะว่าถือสัญชาติของรัฐใด
 
14. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2565
การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (801,273 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.8 อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมภาวะอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค ภาคการผลิตของโลกชะลอลงต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลกที่ต่ำกว่าระดับ 50 โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง และตลาดจีนที่ยังคงใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ อย่างไรก็ดี การส่งออกยังมีปัจจัยบวกจากภาวะเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือที่เริ่มปรับเข้าสู่สมดุล ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 10 เดือนแรกยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 9.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 7.4
                                       มูลค่าการค้ารวม
          มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนตุลาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.1 ดุลการค้า ขาดดุล 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) การส่งออก มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.1 การนำเข้า มีมูลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.3ดุลการค้า ขาดดุล 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ        
          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 832,875 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.1 ดุลการค้า ขาดดุล 31,602 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) การส่งออก     มีมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.7 การนำเข้า มีมูลค่า 8,981,477 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 29.8 ดุลการค้า ขาดดุล 656,386 ล้านบาท
         การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
         มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.4 หดตัวในรอบ 23 เดือน แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 2.8 (ขยายตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ เซเนกัล และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 38.0 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 26.3 (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ0.9 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 4.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเยอรมนี) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 20.3 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย) ทุเรียนแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 23.4 (ขยายตัวในตลาดจีน) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 13.5 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์) กล้วยไม้ ขยายตัวร้อยละ 10.9 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อิตาลี บราซิล และเกาหลีใต้) สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 28.5 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ตุรกี และอินเดีย) ผลไม้สดและผลไม้แห้ง หดตัวร้อยละ 34.9 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และสหรัฐฯ) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 11.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และกัมพูชา) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.0
         การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
                   มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.5 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.1 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และนิวซีแลนด์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 5.4 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยียม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 90.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.5 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 74.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย จีน และไต้หวัน) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 14.9 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ กัมพูชา  เบลเยียม และออสเตรเลีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 22.8 (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย และกัมพูชา) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 27.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 13.1 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และจีน) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2565     การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.8
         ตลาดส่งออกสำคัญ
         การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว ตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.5 โดยหดตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 0.9 จีนร้อยละ 8.5 ญี่ปุ่นร้อยละ 3.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 9.8 CLMV ร้อยละ 10.6 (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 5.7 โดยหดตัวในเอเชียใต้ ร้อยละ 21.8 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 22.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.0 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 62.9 ขณะที่ ทวีปออสเตรเลียและตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 18.8 ร้อยละ 22.4 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 51.7 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 103.5
                       3.2  มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
                            การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การผลักดันไทยให้เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปข้าวเพื่อส่งออก ในการประชุมข้าวโลก ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต โดยไทยยืนยันคุณภาพข้าวและพร้อมสนับสนุนนโยบายการค้าข้าวเสรีและปราศจากการแทรกแซง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าว่าราคาข้าวของไทยเป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างแท้จริง (2) การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เพื่อจับคู่เครือข่ายภาครัฐและเอกชนตามแนวคิด Co-create Vision เพื่อลงทุนซื้อขายสินค้าและบริการ การบริหารซัพพลายเชนร่วมกัน รวมไปถึงการส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ Green Economy นอกจากนี้ ไทยยังขอให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทให้ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกาในการส่งออกสินค้าเกษตรแก่ไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันไทยยังส่งออกสินค้าเกษตรต่ำกว่าโควตาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้อยู่มาก (3) มาตรการส่งเสริมการส่งออกปาล์มน้ำมันของไทย เพื่อรักษาสมดุลในด้านราคา หลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย เร่งส่งออกน้ำมันปาล์มสู่ตลาดโลก ส่งผลให้ราคาปาล์มเริ่มลดลง โดยเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม และสนับสนุนการส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
                            แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกของไทยยังสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนด้านพลังงานที่ลดลง ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่เข้าสู่สมดุล อุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเงินบาทยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของไทย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของอุปสงค์ในคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความไม่สงบในยูเครนที่ยังคงอยู่ เป็นปัจจัยเฝ้าระวังที่กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
15. เรื่อง การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) [องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.)] เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามประกาศคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรื่อง กำหนดแนวเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลงวันที่ 14 กันยายน 2565
                   2. ให้ อพท. นำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) แล้ว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการวางแผนบริหารจัดการงบประมาณในแต่ละปีตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป
                   3. ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น    และเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงาน และอัตราเงินเดือนบุคลากรเพื่อเป็นหน่วยบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
                   และให้ กก. รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
                   กก. เสนอว่า
                   1. มาตรา 35 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พพท.) มีอำนาจประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยความยินยอมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและได้รับความเห็นชอบจาก ท.ท.ช.
                   2. จังหวัดสงขลาได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามข้อ 1 โดยพื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อที่รวมประมาณ 3,470,788 ไร่ ประกอบด้วยจังหวัดสงขลา 8 อำเภอ (อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมืองสงขลา อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ และอำเภอหาดใหญ่) จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ (อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอปากพะยูน อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน และอำเภอควนขนุน) และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ (อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร) ซึ่งจากการตรวจสอบผลคะแนนการประเมินตนเองของแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง 3 องค์ประกอบ ซึ่งได้แก่ ด้านคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว ด้านสภาพและความเสี่ยงต่อการถูกทำลาย และด้านการบริหารจัดการ แล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีคะแนนเฉลี่ยรวมร้อยละ 77.45 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์การพิจารณาของ อพท. ที่กำหนดค่าคะแนนไว้ที่คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 75 ขึ้นไป จึงถือว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
                   3. ในคราวประชุม พพท. ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบผลการประเมินตนเองตามข้อ 2 และมอบหมายให้ อพท. ดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลงพื้นที่สำรวจศักยภาพ จัดทำประชาพิจารณ์ จัดทำรายงาน ศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
                   4. อพท. ได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพและประเมินความเหมาะสมพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามมติ พพท. ในข้อ 3 แล้ว โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                             4.1 คุณค่าและความโดดเด่นของทรัพยากรท่องเที่ยว
                                      (1) คุณค่าทางธรรมชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่เป็นระบบทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) ขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก ที่จัดว่าเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติที่โดดเด่น และทะเลสาบสงขลายังได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้ความเค็มของน้ำในทะเลสาบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีการเรียกขานว่า “ทะเลสาบสามน้ำ” รวมทั้งมีพื้นที่ที่เป็นเทือกเขาอันปกคลุมไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
                                      (2) คุณค่าทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ทะเลสาบสงขลามีการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยหลายร้อยปีมาแล้ว ดังที่ปรากฏในบันทึกหลักฐานแผนที่ราชอาณาจักรสยามของชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2229 รวมทั้งมีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานว่ามีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
                                      (3) คุณค่าทางวัฒนธรรม พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ด้วยมีประวัติศาสตร์และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมายาวนาน จึงมีการสั่งสมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัยที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ขึ้นตาลโตนด และทำประมงควบคู่กัน จนทำให้เกิดวิถีที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่เรียกกันว่า “วิถีโหนด-นา-เล”
                             4.2 สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว
                                      จากข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2563 พบว่า จังหวัดสงขลา มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งสิ้น 3,093,138 คนมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 22,871 ล้านบาท จังหวัดพัทลุง มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งสิ้น 737,243 คน มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 1,359.7 ล้านบาท และจังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งสิ้น 2,398,087 คนมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 8,218 ล้านบาท โดยพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีจุดแข็งในเรื่องลักษณะธรรมชาติที่โดดเด่นและมีทรัพยากรและศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงและหลากหลาย ทั้งด้านธรรมชาติ  ด้านประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม รวมทั้งมีโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญเนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT: Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว และยังมีนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดและอาเซียน และเชื่อมโยงการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ อย่างไรก็ดี พื้นที่ดังกล่าวก็ยังมีจุดอ่อนในด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และขาดการ  บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งมีอุปสรรคในเรื่องการแพร่ของโรคระบาดและภัยพิบัติต่าง ๆ
                             4.3 เหตุผลและความจำเป็นในการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษ
                                      เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงและหลากหลาย ดังนั้น การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบของ “พื้นที่พิเศษ” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นการพัฒนาที่ใช้หลักการเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคมาวิเคราะห์และกำหนดสถานการณ์ปัญหา และอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวที่มีความสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางครั้งมีความซับซ้อนหรือไม่มีเจ้าภาพชัดเจนในการดำเนินงาน การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษจะส่งผลให้เกิดการดำเนินการ ดังนี้
                                      (1) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาของหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ มีความชัดเจนไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ
                                      (2) การประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ มีองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์และประสานงานกับท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพสามารถนำเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการ ภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่พิเศษตามปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation & Co-own คือ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนในการ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ” รวมทั้งอาจมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาในพื้นที่ได้ด้วย
                             4.4 การมีส่วนร่วมของชุมชนในการประกาศพื้นที่พิเศษ
                                      อพท. ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีหนังสือแสดงความยินยอมในการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมายัง อพท. ด้วยแล้ว
                   5. ในคราวประชุม พพท. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาของ อพท. ตามข้อ 4 แล้วมีมติเห็นชอบการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตามข้อ 2 เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และให้ อพท. ดำเนินการเสนอต่อ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศพื้นที่พิเศษดังกล่าวต่อไป ซึ่งต่อมาในคราวประชุม ท.ท.ช. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565     ที่ประชุมได้เห็นชอบกับการประกาศพื้นที่พิเศษดังกล่าวด้วยแล้ว
                   6. โดยที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้การประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นการกำหนดแนวเขตเพื่อให้ อพท. ประสานการใช้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือดำเนินการในด้านอื่นใดให้มีผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะมีผลผูกพันต่อบทบาทภารกิจของหลายหน่วยงานในพื้นที่ มีการใช้ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมอบอำนาจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐให้ อพท. ดำเนินการใด ๆ แทนด้วย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ อพท. จัดตั้งสำนักงาน เพื่อดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และให้มีผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษที่จัดตั้งใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยอำนาจหรือข้อสั่งการจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (6) ที่บัญญัติให้ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ หรือร่างประกาศที่มีผลบังคับแก่ส่วนราชการเป็นการทั่วไปนั้น สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้
 
16. เรื่อง (ร่าง) แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบแนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2  (พ.ศ. 2566-2570)
                   2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม (ร่าง) แนวทางฯ ใช้เป็นกรอบในการจัดตั้งงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป
                   3. มอบ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตาม (ร่าง) แนวทางฯ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   (ร่าง) แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2  (พ.ศ. 2566-2570) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอมาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางเพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวระดับพื้นที่ที่เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมและระดับประเทศซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติงานฯ ที่ต่อเนื่องจากแนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะแรก (ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มกราคม 2564) โดยกำหนดเป้าหมายให้ปี 2570 พื้นที่สีเขียวได้รับการดูแลรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนและบรรลุปริมาณและคุณภาพมาตรฐานของประเทศ [เช่น มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อประชากร 10 ตารางเมตรต่อคน พื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่เมือง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 (จากเดิมที่แนวปฏิบัติงานฯ ระยะแรก กำหนดให้พื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อประชากร 5 ตารางเมตรต่อคน พื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่เมือง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5)] ผ่านการขับเคลื่อนตาม 4 แนวทางหลักของแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)   ได้แก่ (1) ทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกและหน้าที่ในการจัดการพื้นที่สีเขียว (2) เมืองมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถรองรับภัยพิบัติและมีฐานทรัพยากรเพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชน (3) เครื่องมือ กลไกเพื่อเอื้อต่อการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียว และ (4) ตระหนักในภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างพลังทางสังคม
 
17. เรื่อง รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย และรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2565 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ รฟท. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว รวมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของ ขสมก. และ รฟท. ในการปรับปรุงการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของ ขสมก. และ รฟท. ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม และ 11 ตุลาคม 2565 รับทราบรายงานผลการให้บริการสาธารณะดังกล่าว และให้ ขสมก. และ รฟท. ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ด้วย (เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 ข้อ 14 ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะตามที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงเพื่อเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. รายงานผลการให้บริการสาธารณะของ ขสมก.
                             1.1 รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม2563 – 30 กันยายน 2564)
                                      1.1.1 ลักษณะของการบริการและปริมาณการให้บริการสาธารณะ ขสมก. ให้บริการรถโดยสารธรรมดามีรถวิ่งจริง จำนวน 1,413 คัน (เป้าหมาย 1,460 คัน) ระยะทางรวม 101.03 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมาย 111.38 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากผู้ใช้บริการลดลง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงมีการปิดการจราจรอันเนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้ ขสมก. ปรับแผนการเดินรถ เช่น จัดรถให้บริการในระยะทางสั้นเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
                                      1.1.2 ผลการดำเนินงานของ ขสมก. โดยในด้านต้นทุนเป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากมีการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซม และค่าเช่า อย่างไรก็ตาม ในด้านอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น
                                                (1) ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการอยู่ที่ร้อยละ 75.80 (เป้าหมายร้อยละ 86) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอยู่ในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่จึงมีการปรับเปลี่ยนเวลาและเที่ยวให้บริการ ซึ่งเป็นผลให้   ขสมก. ให้บริการรถโดยสารประจำทางทุกประเภทลดลงและประชาชนไม่ได้รับการบริการที่สะดวก
                                                (2) จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ 9 ครั้ง (เป้าหมายกำหนดไม่เกิน 8 ครั้ง) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากรถโดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจากอายุการใช้งานมานาน
                                                (3) จำนวนกิโลเมตรที่ให้บริการรวม 101.03 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมายกำหนดไว้ 111.38 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากเกิดสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีการปิดการจราจรในจุดต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีการปรับแผนการเดินรถในระยะทางสั้นและลดเที่ยววิ่งทุกเส้นทาง
                             1.2 การพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                                      คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,606.03 ล้านบาท (กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ จำนวน 2,338.27 ล้านบาท) โดยมีการหักการปรับค่าประเมินค่าตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงฯ จำนวน 289.69 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะประจำปี 2564 ภายหลังจากการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัด คิดเป็นจำนวน 2,316.35 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย      3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 1,169.13 ล้านบาท งวดที่ 2 จำนวน 467.65 ล้านบาท และงวดที่ 3 จำนวน 679.56 ล้านบาท (ซึ่งงวดที่ 1 และ 2 มีการเบิกจ่ายแล้ว)
                             1.3 มติคณะกรรมการฯ
                                      1.3.1 รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ ขสมก. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,606.03 ล้านบาท และให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งวดที่ 3 จำนวน 679.56 ล้านบาท
                                      1.3.2 ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ดังนี้
                                                (1) ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการดีขึ้นจากปี 2563       แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมาย รวมถึงยังไม่พบว่า ขสมก. มีแนวทางการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงขอให้ ขสมก. จัดทำรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้ผลประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในปี 2564 ต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจในการใช้บริการมากขึ้น
                                                (2) ขสมก. มีจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสำหรับรถโดยสารธรรมดาที่      ขสมก. เป็นฝ่ายผิดอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมาย ดังนั้น จึงขอให้ ขสมก. จัดทำข้อมูลที่แสดงถึงสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุที่ ขสมก. เป็นฝ่ายผิดโดยชี้แจงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่ชัดเจน พร้อมทั้งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ขสมก. ควรแสดงเหตุผลและหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยที่ ขสมก. มีการกำหนดไว้ในปัจจุบันหรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการลดและป้องกันและอุบัติเหตุจากการขนส่งสาธารณะสำหรับรถโดยสารธรรมดาที่ ขสมก. เป็นฝ่ายผิด
                                                (3) ขสมก. ควรกำหนดรายการค่าใช้จ่ายให้มีความชัดเจนรวมทั้งแผนการจัดหาทรัพย์สินในแต่ละปีมาใช้ประกอบการจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายจากการให้บริการสาธารณะเพื่อให้การประมาณค่าใช้จ่ายมีความครบถ้วนและมีความสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริง
                                                (4) กรณีที่มีการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะและมีสมมติฐานของประมาณการรายได้หรือค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณะที่แตกต่างจากที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงฯ ขสมก.      ควรพิจารณาจัดส่งข้อเสนอการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะดังกล่าวต่อคณะกรรมการฯ พิจารณา
                             ทั้งนี้ เนื่องจาก ขสมก. ไม่สามารถดำเนินการปิดบัญชีรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้เป็นปัจจุบันได้ คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติให้นำผลการดำเนินการงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ไปรวมกับรายงานผลฯ ตอนสิ้นปี
                   2. รายงานผลการให้บริการสาธารณะของ รฟท.
                             2.1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                                      2.1.1 รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564)
                                                (1) ลักษณะของบริการและปริมาณการให้บริการสาธารณะ รฟท. ให้บริการรถไฟเชิงสังคม 109 ขบวนต่อวัน (เป้าหมาย 152 ขบวนต่อวัน) โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 10.95 ล้านคน (เป้าหมาย 23.18 ล้านคน) และกิโลเมตรทำการ 6.790 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมาย 8.245 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจาก รฟท. ปรับลดจำนวนขบวนรถไฟเชิงสังคมให้สอดคล้องตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
                                                (2) ผลการดำเนินการของ รฟท. โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการอยู่ที่ 4.09 (เป้าหมายกำหนดระดับความพึงพอใจไว้ที่ 4 จาก 5) โดยผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลา และราคา ประสิทธิภาพการบริหารเวลาเดินรถให้ตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 87.16 (เป้าหมายร้อยละ 80 ของจำนวนเที่ยวที่ตรงต่อเวลา) และไม่มีอุบัติเหตุต่อการเดินรถโดยสารเชิงสังคม อย่างไรก็ตามมีผลการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการมีเพียง 10.95 ล้านคน (เป้าหมาย 23.18 ล้านคน) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และด้านต้นทุนการดำเนินงานซึ่งอยู่ที่ 565.87 บาทต่อกิโลเมตร (เป้าหมาย 362.16 บาต่อกิโลเมตร) เนื่องจากมีค่าซ่อมบำรุงรถจักรที่เสื่อมสภาพตามการใช้งานเพื่อรักษาประสิทธิภาพการเดินรถ ประกอบกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้ต้องใช้จำนวนตู้โดยสารต่อขบวนรถโดยสารเพิ่มสูงขึ้น
                                      2.1.2 การพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,532.53 ล้านบาท (กรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ จำนวน 2,886.65 ล้านบาท) โดยมีการหักการปรับค่าประเมินค่าตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงฯ จำนวน 252.85 ล้าบาท ทำให้ผลขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะประจำปี 2564 ภายหลังจากการปรับผลการประเมินค่าตัวชี้วัด คิดเป็นจำนวน 2,279.68 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 1,443.32 ล้านบาท (จ่ายแล้ว) และงวดที่ 2 และ 3 รวมจำนวน 836.36 ล้านบาท
                                      2.1.3 มติคณะกรรมการฯ
                                                (1) รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ รฟท.    ซึ่งผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,532.53 ล้านบาท และให้ รฟท. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งวดที่ 2 และ 3 รวมจำนวน 836.36 ล้านบาท
                                                (2) ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ
                                                         1) รฟท. นำส่งรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เกินกรอบระยะเวลาที่กำหนดและมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้การพิจารณามีความล่าช้าและ รฟท. ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม ดังนั้น ขอให้กระทรวงคมมาคม (คค.) กำกับดูแลให้ รฟท. รายงานผลฯ ตามระยะเวลาที่กำหนดและมีข้อมูลครบถ้วน เพื่อให้ รฟท. ได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเร็วขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการให้บริการสาธารณะต่อไป
                                                          2) รฟท. รายงานต้นทุนที่ไม่สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงฯ       จึงขอให้ คค. กำกับให้ รฟท. รายงานผลฯ ให้สอดคล้องกับรายการรายได้และต้นทุนการให้บริการสาธารณะที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงฯ
                                                          3) แม้ว่าผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารของ รฟท.    จะสูงกว่าเป้าหมาย แต่เมื่อพิจารณาความพึงพอใจของผู้โดยสารในแต่ละด้านพบว่า ผู้โดยสารยังคงมีความพึงพอใจบางรายการที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย เช่น ด้านความสะอาด ความเพียงพอของจำนวนห้องน้ำบริเวณสถานี ดังนั้น จึงขอให้ คค. กำกับให้ รฟท. จัดทำแนวทางในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการในเรื่องดังกล่าวเพื่อเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในอนาคต
                                                          4) คณะกรรมการ รฟท. ควรกำกับกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาในการบริหารจัดการการขอปรับเป้าหมายตามบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อให้การขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ รฟท. ควรเร่งดำเนินการจัดทำงบการเงินให้ถูกต้อง
                             2.2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                                      2.2.1 รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565)
                                                (1) ลักษณะของบริการและปริมาณการให้บริการสาธารณะ รฟท. ให้บริการรถไฟเชิงสังคม 120 ขบวนต่อวัน (เป้าหมาย 152 ขบวนต่อวัน) โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 4.78 ล้านคน (เป้าหมาย 12.11 ล้านคน) และกิโลเมตรทำการ 3.62 ล้านกิโลเมตร (เป้าหมาย 4.15 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจาก รฟท. ปรับลดจำนวนขบวนรถไฟเชิงสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
                                                (2) ผลการดำเนินการของ รฟท. โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น ประสิทธิภาพการบริหารเวลาเดินรถให้ตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 87.41 (เป้าหมายร้อยละ 80 ของจำนวนครั้งที่ตรงต่อเวลา) และไม่เกิดอุบัติเหตุต่อการเดินรถโดยสารเชิงสังคม อย่างไรก็ตาม   มีผลการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น จำนวนผู้โดยสารใช้บริการมีเพียง 4.78 ล้านคน (เป้าหมาย 12.11 ล้านคน) และด้านต้นทุนการดำเนินงานอยู่ที่ 462.66 บาทต่อกิโลเมตร (เป้าหมาย 362.16 บาทต่อกิโลเมตร)
                                      2.2.2 การพิจารณาเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ งวดที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯ ของ รฟท. กำหนดให้จ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะงวดที่ 2 ในจำนวนร้อยละ 20 ของกรอบวงเงินอุดหนุนที่ปรับปรุงแล้ว และภายหลังจากการหักการจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ งวดที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง รฟท. มีกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,278.87 ล้านบาท ดังนั้น รฟท. จะได้รับวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ งวดที่ 2 จำนวน  655.77 ล้านบาท
                                      2.2.3 มติคณะกรรมการฯ
                                                (1) รับทราบรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565       ของ รฟท. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 1,475.12 ล้านบาท และให้ รฟท. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ งวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 655.77 ล้านบาท
                                                (2) ข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ
                                                          1) ในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การให้บริการสาธารณะของ รฟท. ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ รฟท. ไม่ได้ขอเสนอปรับปรุงบริการสาธารณะให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การให้บริการสาธารณะและวงเงินที่ได้รับอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปี 2565 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
                                                          2) ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายแต่จำนวนผู้โดยสารของ รฟท. ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ดังนั้น รฟท. ควรมีการศึกษาและวิเคราะห์จำนวนผู้โดยสารที่ยังคงต้องการใช้บริการสาธารณะ เพื่อนำมากำหนดแนวทางและการให้บริการสาธารณธที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้การขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
                                                          3) ภายใต้แผนงาน/โครงการของ คค. ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Mode) ที่เป็นระบบรางและระบบการขนส่งทางถนน (Feeder systems) ให้มีการเชื่อมต่อได้หลายรูปแบบ นั้น รฟท. ควรทบทวนแนวทางการเดินรถจากรูปแบบการขนส่งที่เปลี่ยนไป รวมทั้งประเด็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ กค. ได้มีการปรับโครงการในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นการอุดหนุนผู้โดยสารที่ใช้บริการสาธารณะโดยตรง รฟท. อาจพิจารณาปรับค่าโดยสารซึ่งจะช่วยให้สถานะการเงินของ รฟท. ดีขึ้น และเป็นการลดภาระการชดเชยของภาครัฐลง
 
18. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 46,000 คน ระหว่างวันที่ 4 – 31 กรกฎาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
                             1.1 การพบเห็นปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนร้อยละ 56.0 ไม่พบเห็นและไม่ทราบว่ามีปัญหายาเสพติด ร้อยละ 38.0 ไม่พบเห็นแต่ทราบว่ามีปัญหายาเสพติดและร้อยละ 6.0 พบเห็นปัญหายาเสพติดด้วยตนเอง
                             1.2 การพบเห็นการซื้อยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 73.9 ไม่พบเห็นแต่ทราบว่ามีการซื้อยาเสพติด ร้อยละ 21.0 ไม่พบเห็นและไม่ทราบว่ามีการซื้อขายยาเสพติด ร้อยละ 4.6 พบเห็นการซื้อขายยาเสพติดได้ง่าย (ประชาชนให้เหตุผล เช่น ยาเสพติดมีราคาถูก) และร้อยละ 0.5 พบเห็นการซื้อขายยาเสพติดได้ยาก
                             1.3 ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนร้อยละ 84.1 ไม่พบเห็นแต่ทราบว่ามีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดฯ ร้อยละ 12.6 พบเห็นผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดฯ ด้วยตนเอง และร้อยละ 3.3 ไม่พบเห็นและไม่ทราบว่ามีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดฯ
                             1.4 ประเภทยาเสพติดที่แพร่ระบาดในชุมชนและหมู่บ้าน ประชาชนร้อยละ 82.4 เห็นว่ายาบ้าแพร่ระบาดมากที่สุด รองลงมาได้แก่ น้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ หรือวัตถุอันตราย (ร้อยละ 27.6) สารสกัดของกัญชาที่มีค่าสาร THC (Tetrahydrocannabinol) เกินร้อยละ 0.2 (ร้อยละ 9.3) ไอซ์ (ร้อยละ 5.4) และสารระเหย เช่น กาว (ร้อยละ 4.7)
                             1.5 ช่วงอายุของผู้เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด ประชาชนร้อยละ 49.4 เห็นว่าผู้ที่มีอายุ 20-24 ปี เกี่ยวข้องมากที่สุด และร้อยละ 3.6 เห็นว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นจะเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดลดลง
                             1.6 ความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ประชาชนร้อยละ 64.8     ไม่ได้รับความเดือดร้อน ร้อยละ 26.1 ได้รับความเดือดร้อน (ประชาชนให้เหตุผล เช่น การกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และการส่งเสียงดังก่อความรำคาญ) และร้อยละ 9.1 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
                             1.7 ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานในการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจฯ เฉลี่ย 6.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยประชาชนร้อยละ 49.3 มีความพึงพอใจฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 37.9 มีความพึงพอใจฯ ปานกลาง ร้อยละ 12.1 มีความพึงพอใจฯ น้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.7 ไม่พึงพอใจ
                             1.8 ความเชื่อมั่นต่อนโยบายการป้องกัน ปราบปราบ และบำบัดยาเสพติด ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อนโยบายการป้องกันฯ เฉลี่ย 6.19 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยประชาชนร้อยละ 48.1 มีความเชื่อมั่นฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 38.0 มีความเชื่อมั่นฯ ปานกลาง ร้อยละ 12.7 มีความเชื่อมั่นฯ น้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 1.2 ไม่เชื่อมั่น
                             1.9 ความเชื่อมั่นต่อนโยบายยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติดสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือลดจำนวนผู้ค้ายาเสพติด ประชาชนให้คะแนนต่อนโยบายยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติดฯ เฉลี่ย 6.20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยประชาชนร้อยละ 48.8 มีความเชื่อมั่นฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 35.9 มีความเชื่อมั่นฯ ปานกลาง ร้อยละ 13.9 มีความเชื่อมั่นฯ น้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 1.4 ไม่มีความเชื่อมั่น
                             1.10 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ประชาชนให้คะแนนความปลอดภัยฯ เฉลี่ย 7.02 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยประชาชนร้อยละ 68.1 ให้คะแนนความปลอดภัยฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 26.1 ให้คะแนนความปลอดภัยฯ ปานกลาง ร้อยละ 5.6 ให้คะแนนความปลอดภัยฯ น้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.2 ให้คะแนนไม่มีความปลอดภัย
                             1.11 ข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด การติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ประชาชนได้ให้ข้อเสนอแนะฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ร้อยละ 59.0          ควรปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง/ต่อเนื่อง 2) ร้อยละ 50.3 ควรใช้กฎหมายลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด 3) ร้อยละ 29.4 ควรมีการเฝ้าระวังในชุมชน/หมู่บ้าน (เช่น การจัดเวรยาม และการตั้งจุดตรวจสกัด) 4) ร้อยละ 26.3 ควรรณรงค์สร้างจิตสำนึกประชาชสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด (เช่น ติดป้ายประกาศ เดินรณรงค์ และแจกแผ่นพับ) และ 5) ร้อยละ 19.4 ควรปลูกฝัง/สอดส่องดูแลภายในครอบครัว
                   2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
                             2.1 ควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรวมถึงผู้นำชุมชน/ผู้นำหมู่บ้าน ให้สามารถป้องกันตนเอง ตลอดจนครอบครัวให้ปลอดภัยจากโทษและพิษภัยยาเสพติดผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์
                             2.2 ควรสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งให้รางวัลกับผู้แจ้งเบาะแสเพื่อนำไปสู่การจับกุม และมีช่องทางการแจ้งเบาะแสที่สะดวกและเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง
                             2.3 ควรติดตามและแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดหรือปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอย่างจริงจัง เช่น การลักทรัพย์ การส่งเสียงดังก่อความรำคาญและแก็งค์รถจักรยานยนต์ซิ่ง
                             2.4 ควรมีบทลงโทษผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างรุนแรงและจริงจัง เช่น ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และยึดทรัพย์ทั้งผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกรงกลัวและไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
                             2.5 ควรบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งชุมชนให้เกิดความตระหนักถึงปัญหายาเสพติดที่มีความรุนแรงมากขึ้น ร่วมเฝ้าระวัง เสริมสร้างพื้นที่เชิงบวก พื้นที่ปลอดภัย และมีส่วนร่วมในการนำนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่การปฏิบัติและสร้างจิตสำนึกร่วมกันเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด
 
19. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 19 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ตุลาคม 2565)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 19 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ตุลาคม 2565) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. นโยบายหลัก 10 ด้าน ประกอบด้วย

นโยบายหลัก มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 1.1) จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จ        พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ 23 ตุลาคม 2565    “วันปิยมหาราช” และจัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จ               พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2565 และจัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ”
1.2) ขับเคลื่อนกิจกรรม “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ตามแนวพระราชดำรีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือนควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 2.1) แก้ปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดและลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต อันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด โดยใช้สาธารณสุขนำเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
2.2) เสริมสร้างเครือข่ายภาคใต้เพื่อยกระดับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) โดยจัดการประชุมชี้แจงถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ เพื่อพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ สำหรับทุกหน่วยงานให้สามารถช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 3.1) ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไทย ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด หนังสือ “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” และวีดิทัศน์สรุปการจัดงาน “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล”            แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ    พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาไทย
3.2) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาสินค้าด้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ขับเคลื่อนด้วยโมเดลอารมณ์ดี มีความสุข (Happy Model) โดยใช้แพลตฟอร์ม TAGTHAi ที่เป็นบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ในการนำศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมของไทยสอดแทรกในสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชัน ละคร เกม และโฆษณา
3.3) จัดประชุมใหญ่สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของเอเชียในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม และจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2022 ของสภา                  การโบราณสถานระหว่างประเทศ และการประชุมวิชาการนานาชาติในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม โดยจะนำเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกในปี 2566
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้มีถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อ “การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี” ในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีอาเซียน ครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างพลังสตรีใน 3 มิติ ได้แก่ (1) การสร้างนโยบายเพื่อเสริมสร้างพลังสตรี (2) การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และ (3) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอาเซียนควรร่วมกันดำเนินการบูรณาการมิติเพศภาวะเข้าสู่นโยบายทางเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค และส่งเสริมมาตรการที่กำหนดเป้าหมายและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย 5.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น (1) โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว โดยตรวจประเมินตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้กับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ลดการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ไฟฟ้า และก๊าซปิโตรเลียมเหลว รวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ปล่อยสู่อากาศลดลง 2.92 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปีรวมมูลค่าที่ประหยัดได้ 30.45 ล้านบาทต่อปี และ (2) จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวม 19 ฉบับ
5.2) พัฒนาภาคเกษตร โดยตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยได้ตรวจประเมินสาขาของโมเดิร์นเทรด 837 สาขาทั่วประเทศ พบว่าได้ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินตามแบบประเมินการป้องกันการปนเปื้อนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสินค้า Q
5.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกโมโตจีพี สนามประเทศไทย (MotoGP 2022) รายการ “โออาร์ ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์ 2022” ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ณ สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ร่วมงานกว่า 178,463 คน สร้างรายได้ให้จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดอื่น ๆ ประมาณ 4,048 ล้านบาท และภาครัฐได้รับรายได้ในรูปแบบภาษีไม่น้อยกว่า 173 ล้านบาท
5.4) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยปรับปรุงอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟและถนนรถไฟช่วงบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมาใช้บริการรถไฟซานเมืองสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) ทั้งนี้ เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
5.5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม โดยผลักดันประเทศสู่สังคมและเศษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม Thailand Innovation Portal โดยรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการ โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม ย่านนวัตกรรม และข้อมูลอื่นผ่านทางเว็บไซต์ www.thailandinnovationportal.com
5.6) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยกระทรวงการคลังร่วมกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ 10 ราย ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่า ร้อยละ 1 และเงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ในปี 2565-2566 และผลิตรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ในปี 2565-2568
6) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของ
คนไทยทุกช่วงวัย
ทดลองระบบการเทียบโอนหน่วยกิต และระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System: NCBS) ใน 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน ทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งระบบ NCBS อาศัยเทคโนโลยีเชื่อมต่อคลัง     หน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเข้าไว้ด้วยกัน เช่น การนำประสบการณ์ทำงานจริงมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิต เพื่อขอรับใบรับรองการเรียนรู้หรือปริญญาบัตรตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
7) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม 7.1) แสดงสัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute: M) และลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยส่งผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวัคซีนแห่งชาติไปเรียนรู้งานทุก 3 เดือน มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล การให้คำปรึกษาออนไลน์ และระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
7.2) ยกระดับการให้บริการสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ ได้แก่ (1) จัดทำโครงการ “Telehealth Together” โดยนำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้กับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจนำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง และ (2) นำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินด้วยการเชื่อมต่อรถพยาบาลและห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
7.3) ถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. จำนวน 3,263 แห่ง ไปยัง อบจ. 49 จังหวัด ดำเนินการแล้ว 8 จังหวัด 577 แห่ง
8) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติในเทศกาลลอยกระทงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตาม BCG Model เช่น กระทรวงเปลือกข้าวโพด และให้ปล่อมโคมลอยได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model
9) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 9.1) อำนวยความสะดวกให้ประชาชนติดต่อราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทันที ทุกที่ ทุกเวลาและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
9.2) แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตามความจำเป็น เหมาะสม ไม่เกินอัตราตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด โดยไม่ต้องเสนอให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท. พิจารณา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
9.3) พัฒนาการให้บริการงานรับเรื่องร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม ปีงบประมาณ           พ.ศ. 2565 มีผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 เช่น (1) การร้องเรียนร้องทุกข์ เช่น การขอความช่วยเหลือการร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐ และปัญหาที่ดิน มีการยื่นเรื่อง 36,028 เรื่องดำเนินการแล้ว 33,565 เรื่อง และ (2) การบริการแบบเบ็ดเสร็จ มีการยื่นเรื่อง 591,694 ครั้ง ซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว
10) การป้องกันปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบและกระบวนการยุติธรรม เตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาคนพ้นโทษออกมาก่อเหตุซ้ำ เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 (กฎหมาย JSOC) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคม 2566 โดยเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมในการสร้างการรับรู้และจัดทำบัญชีรายชื่อที่น่าจับตามอง (Watchlist) ในกลุ่มบุคคลอันตรายให้ชัดเจนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการเฝ้าระวังบุคคลอันตรายต่อไป

                   2. นโยบายเร่งด่วน 7 เรื่อง ประกอบด้วย

นโยบายเร่งด่วน มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การแก้ไขปัญหา    ในการดำรงชีวิตของประชาชน
 
1.1) ความคืบหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 21.93 ล้านราย โดยจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในเดือนมกราคม 2566
1.2) ในเดือนตุลาคม 2565 มีการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ     รวม 49 คดี ดังนี้ (1) ดอกเบี้ยเกินอัตรา 19 คดี (๒) แก็งค์หมวกกันน็อค 6 คดี (3) กู้ออนไลน์ 23 คดี และ (4) การวางหลักประกัน 1 คดี
2) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม
 
โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดสดเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กนวัตกรรม (PM2.5) ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย จำนวน 7,723.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.80 ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด
3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 3.1) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบูรณาการการฝึกอบรมมาตรฐานฝีมือแรงานและมาตรฐานอาชีพเพื่อพัฒนากำลังแรงงาน ระหว่างกระทรวงแรงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อบูรณาการผลักดันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับในระบบการจ้างงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
3.2) ให้บริการทดสอบความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์                  “ไทยมีงานทำ” พร้อมออกใบรับรองให้ผู้ที่สอบผ่านการทดสอบเพื่อนำไปประกอบการสมัครงานหรือศึกษาต่อ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และจ่ายเงินค่าดำเนินการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ได้ที่เว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.doe.go.th
4) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต
 
โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hostpital) มีความคืบหน้าผลการดำเนินงาน เช่น พัฒนาระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครือข่าย 5G พัฒนาระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ และจัดหาอุปกรณ์ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G
5) การเตรียมคนไทย
สู่ศตวรรษที่ 21
 
ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยจัดทำโครงการนำร่อง “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสมไม่ละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
6) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2565 มีผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติด ดังนี้ จับกุมคดียาเสพติด 25,158 คดี จับกุมผู้ต้องหา 24,601 คนและยึดของกลาง เช่น ยาบ้า 40.23 ล้านเม็ด ไอซ์ 105.38 กิโลกรัม และยาอี 25,167 เม็ด
 
7) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย 7.1) โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา ดำเนินงานก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ มีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 99.32 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
7.2) ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยเสริมกำลังพลและเครื่องมือช่างเพื่อช่วยวิกฤตการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ดูแลชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมแนวกั้นน้ำและระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และจัดชุดช่างและยานพาหนะสำหรับช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

 
20. เรื่อง แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบแผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) (แผนปฏิบัติการปี 66 – 70)
                   2. เห็นชอบแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (แผนการดำเนินงานปีงบฯ 66) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) วงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,000.256 ล้านบาท และประมาณการรายได้ 1,000.818 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   พน. รายงานว่า
                   1. ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 4                      (พ.ศ. 2563 – 2565) และผลการดำเนินงาน การจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565

ประเด็น รายละเอียด
ผลการดำเนินงาน ตัวอย่างผลการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. เช่น
– กำกับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชน และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT)
– พัฒนากฎหมายลำดับรองเพื่อการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และพัฒนาระบบการให้บริการอนุญาตและรับแจ้งการประกอบกิจการไฟฟ้าสำหรับกิจการไฟฟ้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตแบบออนไลน์บนเว็บไซต์และ Mobile Application
– ออกมาตรการค่าไฟฟ้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
– กำกับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และกำหนดมาตรการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุดในช่วงวิกฤตราคาพลังงานโลก
– กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับนโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และจัดทำแนวทางการกำกับกิจการไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
– กำกับการดำเนินมาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิ์ขอคืนเงินประกัน จำนวน 23.49 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,758 ล้านบาท
– กำกับการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ
– ออกหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework Guideline) เพื่อเตรียมการรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าในอนาคต
– กำกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เช่น จัดเก็บเงินเพื่อชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริหารไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง เป็นเงิน 13,882 ล้านบาท
– ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินรวมจำนวน 1,920 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า
– พัฒนากฎระเบียบว่าด้วยประมวลหลักการปฏิบัติงานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ให้ครบทุกเชื้อเพลิง
– พัฒนาระบบการปฏิบัติการและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การบริการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานและการบริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
– พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน “ERC Data Sharing Platform” อย่างต่อเนื่อง
การจัดเก็บรายได้ จำนวน 1,002.771 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
การใช้จ่ายงบประมาณ – คาดว่าจะเบิกจ่าย จำนวน 904.769 ล้านบาท ตามกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564
– คาดว่าจะนำเงินส่งคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 98.002 ล้านบาท

                   2. กกพ. ในคราวประชุมครั้งที่ 26/2565 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการปี 66 – 70 และแผนการดำเนินงานปีงบฯ 66 ซึ่งทั้ง 2 แผนดังกล่าวมุ่งเน้น “การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)” เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ และการพลิกโฉมการบริหารจัดการและการให้บริการของสำนักงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                             2.1 แผนปฏิบัติการปี 66 – 70

ประเด็น สาระสำคัญ
วิสัยทัศน์ กำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม
พันธกิจ – กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ภายใต้กรอบนโยบายรัฐ
– กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน การประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
– ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้และความตระหนักด้านการจัดการและตรวจสอบการดำเนินงานด้านพลังงาน และพัฒนาองค์ด้วยหลักธรรมาภิบาลและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการกำกับกิจการพลังงานให้สูงขึ้น
วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์หลัก สรุปได้ดังนี้

วัตถุประสงค์ที่ 1 ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึงและมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต
เป้าหมาย – จัดหาพลังงานให้เพียงพอ ทั่วถึง มีความมั่นคงรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ตัวชี้วัด – การจัดหาไฟฟ้าตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด
– การพัฒนาหลักเกณฑ์ในการให้บริการอย่างเพียงพอ
– การบริหารจัดการพลังงานเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า
แนวทางการพัฒนา – สนับสนุนการพัฒนาการมุ่งสู่พลังงานสะอาด
– เสริมสร้างประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการพลังงาน
วัตถุประสงค์ที่ 2 ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย – ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 และการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
– มีอัตราค่าบริการพลังงานที่เหมาะสมเป็นธรรมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
ตัวชี้วัด – การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ
– การพัฒนากฎระเบียบการกำกับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
– การปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการพลังงานตามระยะเวลาที่กำหนด
แนวทางการพัฒนา – พัฒนาการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม
– พัฒนาการกำกับกิจการไฟฟ้าเพื่อวางรากฐานด้านการแข่งขัน/โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ตามแนวทาง 4D1E (Digitalization Decarbonization Decentralization Deregulation และ Electrification)
– สร้างกลไกกำกับดูแลอัตราพลังงานและเสริมสร้างศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนค่าบริการพลังงาน
วัตถุประสงค์ที่ 3 กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป้าหมาย – สถานประกอบกิจการพลังงานมีมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ
– การประกอบกิจการพลังงานมีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และมีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ตัวชี้วัด – กำกับสถานประกอบกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ร้อยละ 100
– มีตัวชี้วัดความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย
แนวทางการพัฒนา – ปรับปรุงมาตรฐานการประกอบกิจการพลังงานให้ทันสมัยและกำกับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและคุณภาพการให้บริการ
– ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์ที่ 4 ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
เป้าหมาย – ผู้มีส่วนได้เสียมีความพึงพอใจต่อการกำกับกิจการพลังงาน
– สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งให้ครบ 77 จังหวัด
– ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น และมีระบบการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ทันสมัย
ตัวชี้วัด – ความพึงพอใจต่อการกำกับกิจการพลังงานและกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าร้อยละ 85
– ข้อร้องเรียนที่ได้รับการพิจารณาและแจ้งผู้ร้องเรียนได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดมากกว่าร้อยละ 90
– จำนวนจังหวัดที่สร้างเครือข่ายพันธมิตรได้ตามเป้าหมายในแต่ละปี
– การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ประกาศตามเป้าหมายในแต่ละปี
แนวทางการพัฒนา – พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนและผู้รับใบอนุญาตมีส่วนร่วมได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน
– ยกระดับการคุ้มครองสิทธิสร้างพันธมิตรเพื่อพัฒนางานการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน
– บริหารจัดการให้ทันสมัยและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
วัตถุประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานสากล
เป้าหมาย – องค์กรมีคะแนนผลประเมิน ITA มากกว่าร้อยละ 95 (AA) ภายในปี พ.ศ. 2568 และรักษาระบบคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรตามมาตรฐาน ISO 9001 และพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO อื่นในปี พ.ศ. 2570
– มีศูนย์ข้อมูลด้านการกำกับกิจการพลังงานภายในปี พ.ศ. 2567
– พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการเรียนรู้
ตัวชี้วัด – ผลประเมิน ITA ในแต่ละปี
– การรักษาระบบคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรตามมาตรฐาน ISO 9001 และพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO อื่นในปี พ.ศ. 2570
– การปรับปรุงระบบฐานข้อมูลและเป็นศูนย์ข้อมูลการกำกับกิจการพลังงานในปี พ.ศ. 2567 และระบบการบริหารงานบุคคล
– บุคลากรเป้าหมายได้รับการอบรมและเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรได้ร้อยละ 100 ทุกปี
– บุคลากรมีความผูกพันต่อองค์กรมากกว่าร้อยละ 80
แนวทางการพัฒนา – พัฒนาองค์กรด้วยระบบบริหารงานคุณภาพและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
– เพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
– พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลให้ทันสมัย
– พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะหลากหลาย (Multi – Skill) เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจพลังงานใหม่
งบประมาณ – กรอบงบประมาณรายจ่ายสำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปี 66 – 70 รวมทั้งสิ้น 5,286.042 ล้านบาท
– คาดว่าจะจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงานรายปีตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด จำนวน 5,304.470 ล้านบาท

                             2.2 แผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                                      2.2.1 แผนการดำเนินงาน
 

วัตถุประสงค์ แนวทางการพัฒนา
(1) ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึงและมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต (งบประมาณ 15 ล้านบาท) แนวทางการพัฒนาที่ 1
– ออกกฎระเบียบและประกาศเพื่อจัดหาไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573
– ปรับปรุงกฎระเบียบส่งเสริมการลงทุนและเลือกใช้พลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์และมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง
– พัฒนาหลักเกณฑ์การให้บริการพลังงานอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
– สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแบบที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (On – Grid) และในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า (Off – Grid) ผ่านการสนับสนุนกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
แนวทางการพัฒนาที่ 2
– โครงการศึกษาและจัดทำแบบจำลองการพยากรณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและระบบฐานข้อมูลปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อการบริหารจัดการการจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
– สร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการการจัดหาพลังงานและการกำกับความมั่นคงระบบไฟฟ้า
– พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ให้ความเห็น และติดตามการลงทุนแผนพลังงาน และแผนบูรณาการระบบโครงข่ายพลังงาน กำกับการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและการบริหารจัดการสภาวะวิกฤตเพื่อกำกับความมั่นคงระบบไฟฟ้า
(2) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ (งบประมาณ 45 ล้านบาท) แนวทางการพัฒนาที่ 1
– ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ ข้อกำหนดสำหรับการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติในการปฏิบัติการระบบโครงข่ายพลังงานและสถานี LNG เพื่อให้การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติเป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงาน
แนวทางการพัฒนาที่ 2
– โครงการประเมินและทบทวนหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework และ TPA Code) และหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดการบริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้า (TSO/DSO Framework) รวมทั้งแนวทางการกำกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่
– ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน
– โครงการจัดทำแนวทางการกำหนดหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า โดยศึกษาและจัดทำกฎเกณฑ์กำกับตลาดซื้อขายไฟฟ้าภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า
– สรุปผลการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2
– สร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านการกำกับกิจการพลังงานเกี่ยวกับการพัฒนาการกำกับกิจการไฟฟ้าไปสู่กิจการไฟฟ้าที่มีการแข่งขันและตลาดซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
แนวทางการพัฒนาที่ 3
– โครงการศึกษาและประเมินผลกระทบของอัตราค่าบริการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
– โครงการศึกษาวิเคราะห์ประเมินต้นทุนอัตราไฟฟ้ารายภาค
– ศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า
– พัฒนาหลักเกณฑ์การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้า
– พัฒนาระบบข้อมูลบัญชีและการเงินเพื่อใช้ในการกำกับอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ
(3) กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (งบประมาณ 8 ล้านบาท) แนวทางการพัฒนาที่ 1
– ปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยกิจการก๊าซธรรมชาติโดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับและตรวจสอบการดำเนินการของผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG เพื่อบริหารคุณภาพก๊าซธรรมชาติ และปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการให้บริการกิจการก๊าซธรรมชาติทุกประเภท
– ปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยกิจการไฟฟ้าเพื่อรองรับนโยบายรูปแบบธุรกิจใหม่
– ปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานสัญญาการให้บริการผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ
– โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับการตรวจติดตามสถานประกอบกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน (Post Audit)
แนวทางการพัฒนาที่ 2
– โครงการพัฒนาเกณฑ์ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย
– ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน/เชื้อเพลิงสะอาด และการบริหารจัดการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
(4) ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงานชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย (งบประมาณ 27 ล้านบาท) แนวทางการพัฒนาที่ 1
– พัฒนาระบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการจัดการเรื่องร้องเรียนด้วยระบบดิจิทัล
– โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์งานกำกับกิจการพลังงานและบริหารภาพลักษณ์องค์กร
– โครงการสำรวจประเมินผลความพึงพอใจต่อการกำกับกิจการพลังงานและการให้บริการของสำนักงาน กกพ. และประเมินผลภาพลักษณ์การสื่อสารของสำนักงาน กกพ.
– สร้างพันธมิตรในการเสริมสร้างความรู้ความตระหนักด้านไฟฟ้าภายใต้แนวคิด “Clean Energy for Life”
แนวทางการพัฒนาที่ 2
– สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ที่เข้มแข็งและยั่งยืน ให้สามารถเข้าถึงในวงกว้างทุกภูมิภาค และสร้างช่องทางการสื่อสารและรับเรื่องร้องเรียนที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
– โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักของผู้ใช้พลังงาน
– โครงการฝึกอบรมคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต รุ่นที่ 4
แนวทางการพัฒนาที่ 3
– พัฒนาระบบการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยระบบดิจิทัลต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกโครงการของชุมชนในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตลอดจนทดลองใช้โครงการนำร่อง จำนวน 1 กองทุน
– ประเมินผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
(5) การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาลและได้มาตรฐานสากล (งบประมาณ 124 ล้านบาท) แนวทางการพัฒนาที่ 1
พัฒนาระบบการบริหารงานองค์กรด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลตามเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และพัฒนาองค์กรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการต่อต้านการรับสินบน ISO 37001
– โครงการรักษาระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2015
แนวทางการพัฒนาที่ 2
โครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (ERC Smart Operation) โดยจะดำเนินการ เช่น พัฒนาระบบการขออนุญาตการประกอบกิจการพลังงานและการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และพัฒนาระบบการบริหารงานการเงินการคลังอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
– โครงการพัฒนาระบบจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน โดยเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูล (ERC Data Sharing Platform)
– วางโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโจมตีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แนวทางการพัฒนาที่ 3
– ปรับปรุงกระบวนการและระบบการบริหารงานบุคคลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลรองรับการทำงานแบบไฮบริด
– ทบทวนสมรรถนะ แผนเส้นทางความก้าวหน้าสายอาชีพและแผนการสืบทอดตำแหน่ง
– วางระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้
แนวทางการพัฒนาที่ 4
– โครงการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล
– พัฒนาบุคลากรตามแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล
– โครงการแลกเปลี่ยนพนักงานไปปฏิบัติงานระหว่างองค์กร
– โครงการให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศกับบุคลากร

                                      2.2.2 งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ     พ.ศ. 2566
                                                ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน กกพ. คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงานรายปี ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551 จำนวน 1,000.818 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายจ่าย จำนวน 1,000.256 ล้านบาท มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                                                (1) ประมาณการรายได้

รายการ จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ต่ออายุ ใบแทน 1.410
2. ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงานรายปี 994.207
3. รายได้อื่น ๆ อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กกพ. เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและดอกเบี้ยจากเงินฝาก 5.201
รวมทั้งสิ้น 1,000.818

                                                (2) ประมาณการรายจ่าย

รายการ จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. รายจ่ายด้านบุคลากร 276.199
2. รายจ่ายในการจัดการและบริหารสำนักงาน เช่น เงินสมทบประกันสังคม ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าวัสดุสำนักงาน และค่าสาธารณูปโภค 459.603
3. รายจ่ายที่เป็นงบลงทุน เช่น ค่าครุภัณฑ์ต่าง ๆ 11.256
4. รายจ่ายที่เป็นเงินอุดหนุน เช่น เงินสนับสนุนกิจกรรมภาคสังคม 2.500
5. รายจ่ายอื่น ๆ เช่น โครงการตามยุทธศาสตร์ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานในต่างประเทศ 250.698
รวมทั้งสิ้น 1,000.256

ทั้งนี้ กรณีที่จะต้องดำเนินการตามภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนหรือดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของสำนักงาน กกพ. หรือตามนโยบายรัฐบาลระหว่างปีงบประมาณ สำนักงาน กกพ. จะถัวจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
                   3. พน. แจ้งว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เห็นควรรับทราบแผนปฏิบัติการปี 66 – 70 และเห็นควรให้ความเห็นชอบแผนดำเนินงานปีงบฯ 66 ตามที่ พน. เสนอ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เห็นควรให้สำนักงาน กกพ. ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูล แบบจำลองพยากรณ์ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการพลังงานรูปแบบใหม่ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งควรติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตลาดพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
21. เรื่อง มาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือนมกราคม 2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการ) เสนอมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือนมกราคม 2566 โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,643,088,000 บาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษฯ
                   สาระสำคัญ
                   มาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษฯ มีรายละเอียด ดังนี้
                   วัตถุประสงค์: เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรฯ (จำนวนประมาณ 13.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ประกอบกับราคาพลังงานที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของผู้มีบัตรฯ และทำให้กำลังซื้อของผู้มีบัตรฯ ลดลง
                   วิธีดำเนินการ: ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยผู้มีบัตรฯ ที่เดิมได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน (จำนวนประมาณ 3.54 ล้านคน) จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 400 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้มีบัตรฯ ที่เดิมได้รับวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน (จำนวนประมาณ 9.68 ล้านคน) จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน
                   กลุ่มเป้าหมาย: จำนวนผู้มีบัตรฯ ในปัจจุบัน จำนวน 13.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565)
                   ระยะเวลาดำเนินมาตรการ: 1 เดือน (เดือนมกราคม 2566)
                   งบประมาณ: ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,643,088,000 บาท
                   ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรฯ ในสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับที่สูง ประกอบกับราคาพลังงานที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของผู้มีบัตรฯ และทำให้กำลังซื้อของผู้มีบัตรฯ ลดลง จึงเห็นควรขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,643,088,000 บาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษฯ
                   อนึ่ง คณะกรรมการฯ ได้มีมติการประชุม ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษฯ และเห็นชอบการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566      งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้แก่กองทุนฯ จำนวน 2,644 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการข้างต้น
 
22. เรื่อง การดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทรวงมหาดไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
                   1. ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทรวงมหาดไทย ณ วัดที่จังหวัดกำหนด ทั้ง 76 จังหวัด
                   2. ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลงเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทรวงมหาดไทย ณ วัดที่จังหวัดกำหนด ทั้ง 76 จังหวัด โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติภายในเดือนมกราคม 2566 ต่อไป
                   สาระสำคัญ
                   1. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง กำหนดดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กระทรวงมหาดไทย จำนวน 99 รูป โดยกำหนดจัดภายในเดือนมกราคม 2566 ณ วัดที่จังหวัดกำหนด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและมีพระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ววัน และได้ร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยการเจริญจิตภาวนา อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมอุปสมบทได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีความประสงค์จะร่วมแสดงความจงรักภักดี ร่วมทำความดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีโอกาสเข้าร่วมบรรพชาอุปสมบททั่วกัน โดยให้ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมบรรพชาอุปสมบทเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ถือเป็นวันลาเสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดเคยลาบรรพชาอุปสมบท ระหว่างรับราชการมาแล้ว ก็สามารถบรรพชาอุปสมบทในครั้งนี้ได้อีกและการบรรพชาอุปสมบทในครั้งนี้ ไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิในการลาบรรพชาอุปสมบทตามปกติในอนาคต ซึ่งเป็นการใช้สิทธิการลาบรรพชาอุปสมบทครั้งแรก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 การจะได้รับสิทธิดังกล่าว และการยกเว้นระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 กระทำได้โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เท่านั้น
                   2. การบรรพชาอุปสมบทฯ ครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ วัดที่จังหวัดกำหนดทั้ง  76 จังหวัด โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ
 
23. เรื่อง การจัดประกันภัยฟรีสำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องการจัดประกันภัยฟรีสำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 โดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)   และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้นำเสนอประกันภัยฟรีอุบัติเหตุกลุ่ม ระยะสั้น ทิพย เพื่อคุณ     (ไมโครอินชัวรันส์) คุ้มครอง 100,000 บาท โดยให้สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 ธันวาคม 2565 ระยะเวลาประกัน 30 วัน นับจากวันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมดังกล่าวสามารถลดภาระที่อาจจะเกิดขึ้น ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม และเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 1736
 

ต่างประเทศ

24.  เรื่อง การรับรองกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (ASEAN Pharmaceutical Regulatory
Framework: APRF)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (ASEAN Pharmaceutical Regulatory Framework : APRF) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียนแบบไม่มีการลงนามตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. กรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (APRF) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีแนวทางการกำกับดูแลยาที่สอดคล้องกันในอาเซียนอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงความคิดริเริ่มด้านยาและสร้างความมั่นใจว่ายามีความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (APRF) ที่ สธ. เสนอในครั้งนี้จะทำหน้าที่สำคัญสองหน้าที่ได้แก่ (1) เชื่อมโยงหน่วยงานกำกับดูแลยาและหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องในอาเซียนเพื่อจัดทำข้อตกลงที่ช่วยให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และ (2) เป็นหนึ่งในเอกสารที่จะให้/เป็นหลักการในการพัฒนาความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลด้านยา (APRF Agreement) (ความตกลงฯ) ซึ่งเป็นเอกสารทางกฎหมายที่กำหนดความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในกฎระเบียบด้านยา และการค้า [ซึ่งจะจัดทำขึ้นหลังจากทุกประเทศสมาชิกให้การรับรองกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเชียน (APRF) และจะจัดให้มีการลงนามในความตกลงฯ ต่อไป]
                   2. เนื้อหาของกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (APRF) เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้มีแนวทางที่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณาการ และจะเชื่อมโยงความคิดริเริ่มในภาคส่วนด้านยา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพถูกนำไปใช้ตลอดวงจรชีวิตของยา
 
25.  เรื่อง การลงนามร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products) และให้ส่งร่างพิธิสารฯ ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างความตกลงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                   3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยาเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างความตกลงดังกล่าวแล้ว
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products) ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา โดยขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ยาที่นำมาบังคับใช้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุในรูปแบบยาสำเร็จรูปแต่ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือด หรือจากพลาสมา เภสัชภัณฑ์รังสี ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ในการวิจัย และเนื้อเยื่อเซลล์และผลิตภัณฑ์บำบัดด้วยยีน และสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมที่ใช้ในการผลิตยาและยาชีววัตถุ แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือรายสาขา (Joint Sectoral Committee) : JSC on GMP ให้มีหน้าที่ทบทวนและเสนอแก้ไขข้อตกลงนี้ รวมถึงภาคผนวกใดๆ และกำหนดวิธีการดำเนินการกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีข้อสงสัยหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนังสือรับรอง GMP หรือรายงานการตรวจประเมินกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องนำข้อกำหนดไปดำเนินการภายใน 5 ปีหลังจากพิธีสารนี้มีผลใช้บังคับโดยประเทศสมาชิกอาเซียนอาจขยายระยะเวลาในการดำเนินการออกไปได้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งร่างพิธีสารฉบับนี้จะเป็นการลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเพิ่มโอกาสของการส่งสินค้าจากประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยไม่ต้องตรวจประเมินซ้ำ เป็นการลดค่ใช้จ่ายในการส่งออกสำหรับผู้ผลิตในประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบทางด้านธุรกิจ
                   2. ร่างพิธีสารฯ ฉบับนี้ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตามบทบัญญัติมาตรา 178 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับการจัดทำร่างพิธีสารฯ ฉบับนี้ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบการ  ลงนามร่างพิธีสารฯ ฉบับนี้
 
26.  เรื่อง ผลการประชุมหารือ เรื่อง “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ณ ประเทศญี่ปุ่น
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมหารือ เรื่อง “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน  (Transit Oriented Development: TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ณ ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                   1. สาระสำคัญของเรื่อง
                             1) นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือ      เรื่อง “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ระหว่างวันที่ 6 – 11ธันวาคม 2565 ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
                             2) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างบันทึกความร่วมมือฯ
                   2. สาระสำคัญของผลการประชุมและภารกิจรายการต่าง ๆ สรุป ดังนี้
                             1) การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ได้ประชุมหารือกับนายโอโนะเดะระ ไซจิ รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ JICA โดยมีผลลัพธ์ของการประชุมฯ ดังนี้
                                      (1) ฝ่ายไทยแสดงความขอบคุณ JICA สำหรับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนให้แก่ประเทศไทย และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการเร่งรัดคลี่คลายประเด็นปัญหาด้านงบประมาณในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้งประเด็นการขยายสัญญา (Supplementary Agreement: S/A) ของสัญญาที่ 3 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้รับเหมาญี่ปุ่น และการสรุปค่าใช้จ่ายงาน Variation Order โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
                                      (2) การสานต่อโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงคมนาคมและ JICA ที่ดำเนินการร่วมกัน อาทิ การผลักดันการพัฒนาพื้นโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) การศึกษาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) โครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานโครงการอุโมงค์ในประเทศไทย และโครงการความปลอดภัยทางถนน
                                      (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอทิศทางการดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและ JICA ในอนาคต ได้แก่ การนำเทคโนโลยี Big Data มาประยุกต์ใช้กับระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรบนท้องถนนร่วมกับกรมทางหลวง การยกระดับการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้วยระบบ GPS ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และความร่วมมือกับบริษัท เอสอาร์ที      แอสเสท จำกัด เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูโภคในพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
                             2) การประชุมหารือทวิภาคีด้านคมนาคมขนส่ง ไทย-ญี่ปุ่น
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหารือทวิภาคีกับนายไซโต เท็ตสึโอะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ MLIT โดยมี
ผลลัพธ์ของการประชุมฯ ดังนี้
                                      (1) ที่ประชุมฯ เห็นชอบการสานต่อความร่วมมือทางวิซาการ ได้แก่ การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการส่งเสริมให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
                                      (2) ที่ประชุมฯ เห็นชอบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD)       ในบริเวณสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟ    แห่งประเทศไทย MLIT และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) ที่มีร่วมกันตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และกำหนดรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่นำร่อง
                                      (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอโอกาสสร้างความสัมพันธ์ในมิติใหม่ในด้านคมนาคมขนส่ง ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกนอกเหนือจากระบบราง ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมขั้นสูงเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
                                      (4) รัฐมนตรี MLIT ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นในโครงการอุโมงค์ทางลอดและเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงซินคันเซนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่
                                      (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง เพื่อพัฒนาการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ทั้งการบริหารงานของหน่วยงานและศักยภาพบุคลากร โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีเฉพาะด้านที่มีความสนใจร่วมกันซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี
                                      (6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้เป็นสักขีพยานการแสดงเจตจำนงการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางชื่อ ระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย MLIT และ UR โดยอัตโนมัติ เพื่อผลักดันการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการดำเนินกิจกรรมระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในบันทึกข้อตกลงฯ โดยมีผลใช้บังคับ 2 ปี
                                      (7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการหารือระหว่างบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR)    ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และการศึกษารายละเอียดการพัฒนาพื้นที่นำร่อง
                             3) การประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการบริหารองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) และการเยี่ยมชมโครงการมินาโตะ มิไร เมืองโยโกฮาม่า
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหารือกับนายนากาจิม่า มาซาฮิโระ ประธานกรรมการบริหาร UR เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ UR เมืองโยโกฮาม่า โดยมีผลลัพธ์การประชุมฯ     ที่สำคัญ ดังนี้
                                      (1) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้แก่ การศึกษาและพิจารณาข้อเสนอคัดเลือกพื้นที่นำร่อง (Leading Project Plan) รายละเอียดวิสัยทัศน์การพัฒนาและโครงสร้างหน่วยงานรองรับการบริหารงานในระยะยาว
                                      (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอให้ UR พิจารณาสนับสนุนการศึกษารายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
                                      (3) ประธานกรรมการบริหาร UR ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนหน่วยงานด้านการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคม ในรูปแบบบริการที่ปรึกษาแบบมีค่าใช้จ่ายครอบคลุมการสำรวจ รายละเอียดการดำเนินงาน การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณและการดึงดูดการลงทุนโดยขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจากประสบการณ์และความสำเร็จของ UR
                                      (4) คณะผู้แทนไทย ได้เยี่ยมชมพื้นที่โครงการ Minato Mirai (มินาโตะ มิไร)       ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองเชื่อมโยงท่าเรือและย่านอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ รองรับการเติบโตของเมืองตอบสนองต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เชื่อมต่อกับกรุงโตเกียวด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง โดยปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานธุรกิจและศูนย์ราชการ แหล่งที่อยู่อาศัย และเป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองโยโกฮาม่า
                             4) การเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมจราจรบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด และโครงการอุโมงค์ (วงแหวนโยโกฮาม่า)
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ได้เยี่ยมชมแนวการบริหารจัดการความปลอดภัยของบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด (MEX) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565      ณ สำนักงานใหญ่ MEX และรับทราบความก้าวหน้าและการดำเนินงานของ MEX ดังนี้
                                      (1) แนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการทางพิเศษ การใช้นวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนในการกำกับดูแลการจราจรและความปลอดภัยบนทางพิเศษ การป้องกันอัคคีภัย รวมไปถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างถนนและอุโมงค์ทางลอดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาและกำกับดูแลโครงการถนน และทางพิเศษของหน่วยงานฝ่ายไทย ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
                                      (2) โครงการวงแหวนโยโกฮาม่า (อุโมงค์ทางด่วน) มีระยะทาง 5.9 กิโลเมตร และเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในเขตมหานครโตเกียว ซึ่งวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างและให้บริการ เพื่อลดความแออัดของการจราจร ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อการจราจรจากท่าเรือโยโกฮาม่ากับพื้นที่เมืองอื่น ๆ โดยรอบ โดยโครงการอุโมงค์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนวงแหวนโยโกฮาม่า ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ MEX ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนและทางพิเศษ รวมถึงการบริหารจุดพักรถและพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์
                             5) การเยี่ยมชมสถานีรถไฟโตเกียว ณ กรุงโตเกียว และโดยสารรถไฟความเร็วสูงซินคันเซน เส้นทางโตเกียว – โอซากา
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ได้เยี่ยมชมสถานีรถไฟโตเกียวและโดยสารรถไฟความเร็วสูงซินคันเซน เส้นทางโตเกียว – โอซากา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 และได้รับทราบความก้าวหน้าและการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
                                      (1) สถานีรถไฟโตเกียวเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2457 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งตลอดการเปิดให้บริการได้มีการปรับปรุงบูรณะสถานีฯ หลายครั้ง โดยสถานีมีชานชาลาให้บริการทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูงซินคันเซ็น ซึ่งพื้นที่ใต้ดินภายในสถานีฯ และบริเวณสถานีมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ผสมผสานพื้นที่สาธารณะ เป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน
                                      (2) รถไฟความเร็วสูงซินคันเซน เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2507 ในเส้นทางโตเกียว – โอซากา โดยรถไฟความเร็วสูงจะเป็นกลไกในการพัฒนาพื้นที่ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งรถไฟซินคันเซนได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงโดยกระทรวงคมนาคม และ MLIT ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบราง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาระสำคัญเพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่          ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางรางร่วมกับ MLIT อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและงบประมาณของโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566
                             6) รองนายกรัฐมนตรีนำคณะผู้แทนไทยเยี่ยมชมโครงการอุเมะคิตะ ณ นครโอซากา
                             นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข     พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางเยือนนครโอซากา เพื่อเยี่ยมชมโครงการอุเมะคิตะ (Umekita) ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 และได้รับทราบความก้าวหน้าและการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
                                      (1) การพัฒนาโครงการอุเมะคิตะ รวมพื้นที่โครงการฯ 240,000 ตารางเมตร โดยมี UR ร่วมกับนครโอซากา และผู้ประกอบการเอกชน ปรับปรุงและพัฒนาเมืองขึ้นใหม่ โดยมีแนวคิดสร้างสรรค์เอกลักษณ์ให้กับหัวเมืองรอง อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่สีเขียวและศูนย์รองรับเหตุภัยพิบัติ โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการใช้ประโยชน์จากที่ดินของภาครัฐ ก่อนต่อยอดการพัฒนาไปยังที่ดินของภาคเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยปัจจัยความสำเร็จมาจากความเข้มแข็งของหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกับภาคเอกชน และการสนับสนุนจาก UR
                                      (2) สถานี JR Osaka ตั้งอยู่พื้นที่โครงการอุเมะคิตะ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่         ปี 2417 โดยอาคารสถานีฯ ประกอบด้วย ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางเมืองใกล้เคียงในภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่น (คันไซ) มาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับกิจกรรมของเมือง พร้อมกับโครงสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยสอดคล้องกับการใช้บบริการของประชาชน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับบริบทของยุคสมัย
                   3. ความเห็นของกระทรวงคมนาคม
                   การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทยในครั้งนี้ เป็นการกระชับความสัมพันธ์และขับเคลื่อนความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้มีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
                             1) ความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น เป็นโอกาสในการขยายขอบเขตความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนโยบายในการดำเนินงานแก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งกรมการขนส่งทางราง และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
                             2) การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนและการมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเป็นการยืนยันความพร้อมและเป้าหมายของรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด การประชาสัมพันธ์แผนงานเพื่อดึงดูดนักลงทุน และการสร้างชุมชนและเมืองต้นแบบเพื่อคุณภาพที่ดีของประชาชน
                             3) การแลกเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการการจราจรอัจฉริยะ การก่อสร้างอุโมงค์และระบบการบริหารทางพิเศษ จากฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านวิศวกรรมการจราจร จะเป็นประโยชน์สำหรับการต่อยอดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการให้แก่หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมในอนาคตต่อไป
                             4) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งกับฝ่ายญี่ปุ่นในสาขาอื่น ๆ ที่ตอบสนองการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลไทย อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานสะอาด และการใช้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมขั้นสูงเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนภารกิจที่เกี่ยวข้อง
 
27. เรื่อง การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงสาธารณรัฐคาซัคสถาน
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงสาธารณรัฐคาซัคสถานจากกรุงนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) เป็นกรุงอัสตานา (Astana) และการดำเนินการที่จำเป็นในส่วนของ กต. เพื่อเปลี่ยนชื่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนูร์-ซุลตัน เป็นสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของสาธารณรัฐคาซัคสถานดังกล่าว สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 รับทราบการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของสาธารณรัฐคาซัคสถาน จาก กรุงอัสตานา (Astana) เป็น กรุงนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) และการดำเนินการที่จำเป็นในส่วนของ กต. เพื่อเปลี่ยนชื่อสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงอัสตานา เป็น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนูร์-ซุลตัน เพื่อสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ตามที่ กต. เสนอ
                   2. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 สาธารณรัฐคาซัคสถานได้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนคาซัคสถานมีความประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจาก กรุงนูร์-ซุลตัน กลับไปเป็น กรุงอัสตานา ซึ่งประธานาธิบดีคาซัคสถานมีดำริว่า เฉพาะชื่อของเมืองหลวงเท่านั้นที่จะมีการเปลี่ยนกลับเป็นกรุงอัสตานา แต่ชื่อสถานที่สำคัญอื่น ๆ ที่ตั้งตามชื่อนายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐคาซันสถาน คนที่ 1 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นผู้มีคุณูปการในการสร้างสาธารณรัฐคาซัคสถานและเมืองหลวงปัจจุบันของประเทศ และได้ส่งคำร้องไปยังสภารัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐคาซัคสถาน  เพื่อให้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ซึ่งสภารัฐธรรมนูญฯ ได้เห็นชอบคำร้องการขอเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากกรุงนูร์-ซุลตัน เป็น กรุงอัสตานา แล้ว และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคาซัคสถานลงนามในกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจาก กรุงนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) เป็น กรุงอัสตานา (Astana) รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งคณะทูตในเรื่องดังกล่าวแล้ว
 

28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายอรรถพล อรรถวรเดช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนี้
                   1. รองศาสตราจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย               กรรมการ
                   2. พลเอก ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม                            กรรมการ
                   3. นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต                         กรรมการ
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ดังนี้
                   1. ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์                 ประธานกรรมการ
                   2. ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 
                   3. หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์              กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   5. นายพณชิต กิตติปัญญางาม                        กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   6. นายสุรงค์ บูลกุล                                    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
 
31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองทดแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอแต่งตั้ง นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
 
32. เรื่อง การเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวม 9 คน ดังนี้
                   1. นายเดชบุญ มาประเสริฐ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) ประธานกรรมการ
                   2. รองศาสตราจารย์กำลัง ชุมพลบัญชร (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านสัตวแพทย์/เกษตร/สัตวบาล
                   3. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
                   4. รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการด้านกฎหมาย
                   5. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์    
                   6. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านต่างประเทศ
                   7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการด้านสถาปัตยกรรม/วิศวกรรม
                    8. นายมณเฑียร อินทร์น้อย (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการด้านการบริหารจัดการองค์กร/การบริหารทรัพยากรบุคคล
                   9. นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ (เป็นบุคคลจากบัญชีรายชื่อฯ) กรรมการผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 

_______________________________________________