“ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางที่เราต้องมุ่งไป”
คือหนึ่งในข้อความที่ ไหม–ศิริกัญญา ตันสกุล ส่งถึงประชาชนคนไทยในหน้าข้อมูลส่วนตัวบนเว็บไซต์พรรคก้าวไกล
จากนักวิจัยที่ทำงานวิชาการ ศิริกัญญาก้าวเข้ามาในโลกการเมืองด้วยบทบาทผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ และเป็นหนึ่งใน สส. ที่ถูกยุบพรรค ก่อนจะมาร่วมกันก่อร่างพรรคก้าวไกลอีกครั้ง
ในพื้นที่การเมืองไทยแบบเดิมๆ คงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กชลบุรีแบบศิริกัญญาที่จะขึ้นมาเป็นนักการเมืองแถวหน้า โดยไม่มีเส้นสาย ไม่ใช่ทายาทตระกูลการเมือง ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจใหญ่โต ใบเบิกทางที่เธอมีคือการศึกษา จากการจบปริญญาตรีและโทสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทใบที่สองสาขา Economics, Market and Organization จาก Toulouse School of Economics (TSE) ฝรั่งเศส
ด้วยประสบการณ์ทำงานวิจัย-คลุกคลีกับงานนโยบายที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ทำให้ศิริกัญญาถูกชักชวนมาดูแลงานด้านนโยบายของพรรคการเมือง ก่อนกระโจนสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว
ชื่อของเธอถูกพูดถึงมากที่สุดหลังการเลือกตั้ง 2566 เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ทันทีที่ปรากฏชื่อศิริกัญญาเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทันใดนั้นพายุคำวิจารณ์ก็โหมกระหน่ำ
เป็นความจริงที่ว่าเก้าอี้รัฐมนตรีคลังไม่เคยมีผู้หญิงนั่งมาก่อนและจะยังไม่มีต่อไป เมื่อพรรคเพื่อไทยพลิกมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกฯ ควบขุนคลัง
กำแพงที่มองไม่เห็นจากเสียงต่อต้านที่ศิริกัญญาเจอ สะท้อนความแปลกแยกของเธอท่ามกลางบริบทที่พรรคก้าวไกลเจอความแปลกแยกในพื้นที่การเมืองไทย ปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญสำหรับพรรคการเมืองที่หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกการเมืองไทยที่ชนชั้นนำถือครองอำนาจ
ในห้วงเวลาที่ก่อเกิดบทสนทนานี้ ศิริกัญญาอยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ แต่ในห้วงเวลาถัดจากนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด เมื่อเริ่มมีสัญญาณนับถอยหลังอายุขัยพรรคก้าวไกลในคดียุบพรรค
ตลอดบทสนทนาศิริกัญญาย้ำหลายครั้งว่าเธอไม่เคยยึดติดในตำแหน่งและไม่เคยใฝ่ฝันถึงตำแหน่งใหญ่โต แต่เส้นทางทั้งชีวิตที่ผ่านมาสะท้อนว่าเธอไม่เคยปฏิเสธความท้าทายตรงหน้าและสนุกกับการจัดการปัญหายากๆ
และไม่ว่าจะมีบทบาทใด เส้นทางชัดเจนที่เธอมุ่งไปข้างหน้าคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง
หากถามถึงช่วงชีวิตวัยเด็กจะอธิบายชีวิตของตัวเองอย่างไร
ครอบครัวเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง บ้านไม่ร่ำรวยอะไร พ่อทำงานบริษัทเอกชน แม่เป็นช่างเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน เลี้ยงลูก 4 คน คือพี่สาว 3 คนและเรา
ตอนเด็กๆ พ่อเป็นเซลส์จักรเย็บผ้าอยู่ในภาคอีสาน ลูกสาวทั้ง 4 คนเกิดคนละจังหวัดเลย เราเกิดที่อุดรธานี พี่ๆ เกิดที่ชลบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม หลังจากนั้นพ่อย้ายบริษัทแล้วบริษัทล้มละลาย ต้องย้ายไปอยู่โคราช แล้วพ่อจึงมาได้งานทำที่ชลบุรี แล้วตอนนั้นแม่ได้มรดกจากยายเป็นสัมปทานเดินรถเมล์หนึ่งคันที่ชลบุรี เป็นเจ้าของรถเมล์แต่บางทีแม่ก็ต้องเป็นกระเป๋ารถเมล์ไปเก็บเงินเอง ทำให้แม่ไม่ค่อยอยู่บ้าน ชีวิตไม่ได้สบายมาก ทุกเปิดเทอมก็จะต้องมีสร้อยทองหายไปเป็นประจำ
เราเป็นลูกหลง อายุจะห่างกับพี่ๆ ค่อนข้างมาก เราอายุห่างกับพี่คนแรก 9 ปี ข้อดีก็คือเราจะมีหนังสือนอกเวลาของพี่ๆ มาเป็นคลังหนังสือให้เราอ่านตั้งแต่เด็กๆ แต่ข้อเสียก็คือพี่ๆ จะเข้าสู่วัยรุ่นในตอนที่เรายังเด็กอยู่ ความเป็นวัยรุ่นก็คืออารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว เราก็งงว่าพี่เป็นอะไร ตีกันตลอดเวลา เราเป็นน้องคนเล็กที่อยู่ท่ามกลางทะเลเอสโตรเจน (หัวเราะ)
การเป็นน้องคนเล็กและโตมาในบ้านที่มีผู้หญิงเยอะส่งผลต่อตัวเองอย่างไร
ส่งผลเยอะมาก ในบ้านเราจะแบ่งหน้าที่กันทำงานบ้าน แล้วไม่รู้ว่าเพราะพี่เป็นวัยรุ่นหรือเครียดหรือเป็นอะไร เขาอารมณ์ฉุนเฉียวกับเราตลอด ทำอะไรก็ห้ามถาม ถ้าถามจะโดนดุ ทำให้เราต้องสังเกตทุกอย่างเอง เช่น จะทำกับข้าวแล้วถามว่าต้องต้มน้ำในระดับไหน ก็จะโดนด่าว่าทำไมไม่สังเกตว่าคราวที่แล้วทำยังไง ทำให้เรากลายเป็นคนช่างจำ ช่างสังเกต เรียนรู้ด้วยตนเอง
ส่วนพ่อแม่ไม่ดุ เราเป็นลูกคนเล็กพ่อแม่ก็ตามใจ เหมือนมีสิทธิพิเศษ ซึ่งก็ทำให้พี่เกลียดเรา (หัวเราะ) แต่เราใช้เวลาอยู่กับพี่มากกว่า จึงต้องพยายามทำให้เขายอมรับเรา แต่พอเวลาผ่านไปทุกคนก็กลายเป็นพี่ที่ดี เราก็เลยรู้ว่า อ๋อ นั่นคือช่วงเวลาแห่งฮอร์โมน
แล้วพ่อแม่เคี่ยวเข็ญเรื่องการเรียนไหม ตอนเด็กเรียนหนักไหม
เขาแทบไม่มายุ่งอะไรเลย ตอนสมัยประถมเกรดเราก็ออกมาดีโดยไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก พอ ม.ต้น เพื่อนเริ่มเรียนพิเศษกัน เราขอเรียนพิเศษบางวิชา พ่อแม่ก็โอเค ตอน ม.3 ต้องเตรียมสอบเข้าเรียนต่อ เราก็เรียนพิเศษมากขึ้น นั่งรถทัวร์จากชลบุรีมาเรียนพิเศษที่สยามกับเพื่อนๆ
ตอน ม.ต้น เราทำกิจกรรมเยอะมาก เพราะครูชอบกดดันว่าเด็กเก่งจะเห็นแก่ตัว จะไม่ทำกิจกรรม คล้ายพูดให้เราไม่ทำแบบนั้น เราก็เลยทำกิจกรรมโรงเรียนเยอะมาก เป็นนางรำ ไปแข่งเต้น เข้าร่วมงานโรงเรียนตลอดเวลา
ตอนที่เรียนหนักจริงๆ คือ ม.ปลาย เราเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หนักหนาสาหัสมาก สอบบ่อย สอบทุกเดือน อ่านหนังสือถึงตี 2 ตี 3 จากที่ตอน ม.ต้น ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ พออยู่ ม.ปลาย เหมือนอยู่ในสังเวียน เราเก่งมาจากต่างจังหวัด ก็ยังสู้เด็กกรุงเทพฯ บางคนไม่ได้ แต่เกรดดีนะ ยกเว้นวิชาเลขตอน ม. 5 เทอมนั้นตกยกห้อง เราได้เกรด 2 แต่มีเพื่อนผ่านแค่คนเดียวในสายศิลป์-คำนวณ เทียบกับเพื่อนก็อาจจะไม่ได้แย่มาก
รู้ตัวเมื่อไหร่ว่าอยากเรียนต่ออะไร อยากไปเส้นทางไหน
เราเริ่มคิดตอน ม.5 อยากรีบเรียนให้จบเร็วๆ เพื่อแบ่งเบาภาระที่บ้าน ก็เลยสอบเทียบ แล้วมีพี่คนหนึ่งเอาหนังสือมาให้อ่านว่าอยากเรียนอะไร จึงได้อ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่สอนวิธีคิดเกี่ยวกับทางเลือกว่าต้องเลือกทางที่ประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำสุด หรือต้นทุนค่าเสียโอกาสคืออะไร หนังสือเล่มนั้นน่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ 101 ตอน ม.ปลาย ไม่มีการสอนเรื่องวิธีคิดแบบนี้ เราอ่านแล้วรู้สึกสนุก ชอบ รู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์น่าเรียน โดยที่ยังไม่ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจไทยประกอบไปด้วยอะไร ก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์
จริงๆ แล้วเราชอบวิชาเลขนะ อาจารย์ก็บอกว่าถ้าชอบเลขต้องไปเรียนบัญชี แต่เราไม่ชอบเลย ไม่เอาเลย ไม่สามารถคิดด้วยตรรกะนักบัญชีได้ ก็เลยไม่ได้เลือก เอาเข้าจริงพอเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วต้องเรียนเลขเยอะมาก ซึ่งเราก็ยังชอบเลขอยู่
คุณสอบเอ็นทรานซ์ได้อันดับหนึ่งของประเทศในสายศิลป์-คำนวณ ชีวิตช่วง ม.ปลาย ทุ่มเทให้การเรียนอย่างเดียวเลยหรือเปล่า ยังทำกิจกรรมบ้างไหม
ม.ปลายมีแค่แข่งวิ่งกีฬาสี เพราะสังคมเปลี่ยน เพื่อนในห้องก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเยอะ ตอนเข้ามาเรียนที่เตรียมอุดมฯ เราก็เจอคัลเจอร์ช็อกนะ เรามาจากต่างจังหวัดแล้วเจอเพื่อนเด็กกรุงเทพฯ แต่งตัวเหมือนกัน ใช้ข้าวของแบบเดียวกัน ต้องถือกระเป๋าหลุยส์ หนีบผ้าเช็ดหน้า ใช้หวีสับ Evita Peroni กระโปรงต้องสั้นแล้วพับขอบกระโปรง แล้วเรามารู้ทีหลังว่ากระเป๋าที่เพื่อนเราถือใบละเป็นหมื่นเลย เพื่อนใช้แบรนด์เนมทั้งตัว ขณะที่เราได้ค่าขนมอาทิตย์ละ 500 บาท บางวันเพื่อนหิ้วกระเป๋า Prada มา เราไม่รู้จัก ได้ยินเพื่อนอีกคนบอกว่าแพง เราก็นึกว่าใบละสามพันบาท ที่จริงคือใบละสามหมื่น เจอแบบนี้ก็ช็อกอยู่
ตอน ม.ต้น เราเป็นเด็กกิจกรรมก็มีเพื่อนเยอะ ว่างๆ ก็ขี่มอ’ไซค์หรือนั่งรถสองแถวไปเล่นน้ำที่บางแสน แต่พออยู่เตรียมอุดมฯ เลิกเรียนเพื่อนก็ไปดูหนังกัน ค่าตั๋วหนังตั้งกี่บาทจะเอาเงินที่ไหนไป บางทีเราก็ไม่ได้ไปกับเพื่อนเพราะฐานะต่างกันมาก
พอเจอแบบนี้ก็ทำให้เราเริ่มฉุกคิดว่า ถ้าเข้าจุฬาฯ ต้องอยู่กันแบบนี้อีกเหรอ มันดูไม่ใช่สังคมที่เราอยากอยู่ แล้วก็มีครูแนะแนวบอกว่าไลฟ์สไตล์เราน่าจะเข้าธรรมศาสตร์มากกว่า เขาเล่าให้ฟังว่ามีการทำกิจกรรมทำเพื่อสังคมกัน เป็นสาเหตุที่เอ็นทรานซ์แล้วเลือกคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นอันดับแรก ซึ่งก็ทำให้เขาหาตัวคนสอบได้อันดับหนึ่งไม่เจอ เพราะคงไปหาแต่ที่จุฬาฯ (ยิ้ม)
ช่วงที่ต้องเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัย ความสนใจด้านสังคมของตัวเองเป็นอย่างไร
เริ่มมีความสนใจแล้ว เริ่มอ่านหนังสือด้านนี้มากขึ้น จำไม่ได้ว่าตอน ม.ปลาย เรารู้จักคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ หรือยัง แต่เราเริ่มรู้สึกถึงโอกาสที่แตกต่างกันระหว่างตัวเรากับคนที่มาจากครอบครัวที่มั่งมี แล้วตอนนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เรามีเพื่อนที่ครอบครัวรวยแล้วพ่อเขาล้มละลาย แต่สุดท้ายก็เป็นการล้มบนฟูก ส่วนครอบครัวเราตอนแรกคิดว่าไม่กระทบอะไร เพราะไม่ได้ทำธุรกิจกับต่างประเทศ แต่มารู้ทีหลังว่าก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะดอกเบี้ยขึ้นสูงมาก ตอนนั้นพ่อก็เหนื่อยเหมือนกัน
ช่วงนั้นก็มีเพื่อนกับพ่อแม่เพื่อนที่หวังดีมาถามเราว่าที่บ้านเป็นอย่างไร มีอะไรให้เราช่วยไหม ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนโดน reverse discrimination เพราะว่าฉันจนใช่ไหมถึงมาถามแบบนี้ โดยที่ไม่ไปถามเพื่อนที่พ่อล้มละลายเลย ซึ่งที่จริงคนถามเขาก็หวังดีนั่นแหละ แต่มันทำให้เรารู้สึก
ในครอบครัวคุยกันเรื่องสังคมการเมืองไหม
ไม่ค่อยคุยกันเลย ตอนเราเรียนปี 1 ก็เริ่มไปออกค่าย เขาก็ไม่เคยเห็นด้วยนะ จะพูดเชิงว่าเอาตัวเองให้รอดก่อนที่จะช่วยคนอื่น ไม่ต้องไปทำกิจกรรมอะไรเยอะแยะหรอก เราก็บอกว่ามันสามารถทำไปพร้อมกันได้ ซึ่งเขาไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพิ่งจะมีช่วงหลังๆ หลังจากเรียนจบไปนานแล้วที่บ้านถึงจะเริ่มคุยเรื่องการเมืองกัน พ่อเสื้อแดง แม่เสื้อเหลือง เราก็เพิ่งรู้แนวคิดทางการเมืองของแต่ละคน
ช่วงเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ส่งผลต่อเรื่องความคิดเยอะไหม
เยอะมาก น่าจะเป็นช่วงที่ส่งผลต่อตัวตนที่สุดแล้ว เข้าไปปี 1 เขาก็จะให้ดูวิดีโอ 6 ตุลาฯ แล้วเด็กที่ไหนดูแล้วจะไม่ไปคุยกันต่อว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราอยากรู้อยากเห็น อ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกมากมาย
การเรียนรู้ของเราส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่ในห้องเรียนก็มีเหมือนกัน เช่น วิชาพัฒนาชนบทไทย สอนโดยอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เราไม่เคยเรียนอะไรแบบนี้มาก่อนและไม่มีวิชาไหนในคณะที่ทำแบบนี้ คือให้นักศึกษาล้อมวงนั่งคุย ทุกคนได้แสดงความเห็น ถกกันไปมาเรื่องต่างๆ มีความเห็นที่แตกต่างได้ ช่วยเปิดโลกเรื่องมายาคติกับชนบทไทย อาจารย์เจิมศักดิ์สอนดีมาก ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย จากที่คิดว่าคนจนเพราะทำตัวเอง แต่พอเรียนวิชานี้ทำให้เริ่มมองเรื่องโครงสร้างของสังคมมากขึ้น มองเรื่องการโดนกดขี่เชิงชนชั้นมากขึ้น
ตอนนั้นคิดหรือยังว่าอยากทำงานต่อสายวิชาการ
ไม่ได้คิดเลยว่าจบไปแล้วจะทำอะไร คิดแค่ว่าต้องตักตวงความรู้ให้ได้มากที่สุด เด็กเศรษฐศาสตร์โดยมากก็เลือกวิชาโทเป็นการเงินหรือบัญชี แต่เราจะเลือกวิชาโทรัฐศาสตร์ ซึ่งเราไม่ชอบโดนบังคับให้เรียนอะไร อยากเรียนวิชาไหนก็ไปเรียนเลย สุดท้ายเก็บวิชาบังคับไม่ครบ แต่ก็ได้เรียนประวัติศาสตร์รัสเซียกับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไปเรียนวิชาการพูดในที่สาธารณะก็ไปเถียงกับอาจารย์ เราไปพูดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แล้วใส่กางเกงขาดๆ ขึ้นไปสอบพูด อาจารย์บอกว่าไม่ได้ ต้องแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ เจอแบบนี้ก็ถอนเลย มีแบบนี้หลายวิชา ไม่เรียนแล้ว อ่านเองก็ได้ แต่ฉันต้องตั้งคำถาม ฉันต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้เป็นอะไร (หัวเราะ)
เราเรียนจบปริญญาตรีก็ต่อปริญญาโทเลย ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาสายวิชาการนะ แต่มันเป็นไปเอง ตอนที่เราเป็นคณะกรรมการนักศึกษาของคณะก็ทำแต่งานเสวนาวิชาการ เช่น จัดเสวนาเรื่อง cost-benefit analysis ของการรับน้อง
ตอนเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ศึกษาเรื่องอะไร
วิทยานิพนธ์ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองของนโยบายการค้า (political economy of trade policy) ตอนเรียนปริญญาโทเป็นการเรียนเลขแบบที่ไม่เห็นตัวเลขแล้ว มีแต่ตัวอักษรกรีก (หัวเราะ) นั่งพิสูจน์สมการทั้งวัน ซึ่งเราชอบด้วย
เราก็คิดนะว่าทำไมตอนเด็กพื้นฐานคณิตศาสตร์เราไปได้เท่านั้น มีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถคิดในตรรกะทางคณิตศาสตร์ได้จริงๆ ตอนเด็กที่เราคิดว่าเราเรียนเลขเก่ง เป็นเพราะเราท่องเก่ง ซึ่งคณิตศาสตร์ไม่ควรเป็นวิชาท่องจำ แต่เราจำสูตรทุกอย่างโดยไม่ต้องคิดว่ามันคืออะไร หรือไม่เราก็ถูกสอนให้คิดเลขให้เร็วที่สุด คุณต้องท่องให้ได้ว่า 2+3 เป็นเท่าไหร่ แล้วคุณก็จำๆๆ เป็นแพตเทิร์นมา ซึ่งพื้นฐานการเรียนคณิตศาสตร์แบบนี้ทำให้ตอนที่เรียนปริญญาโทเรารู้สึกลำบากเหมือนกัน
ฉะนั้น วิทยานิพนธ์เราจึงเป็นทฤษฎีล้วนๆ เป็นการแก้ปัญหาในทางคณิตศาสตร์ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการค้าให้ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่างผู้ประกอบการที่ต้องการนโยบายการคุ้มกันกับประชาชนที่ต้องการให้เปิดเสรีและภาษีน้อยๆ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ แล้วเราก็แก้สมการออกมาโดยไม่มีตัวเลขเลย มีแต่ตัวอักษรกรีก
พอเราไปเรียนปริญญาโทที่ฝรั่งเศสก็ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองอีก วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีผู้ออกเสียงมัธยฐาน (median voter theorem) คือนโยบายที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งคือนโยบายที่อยู่กลางๆ มีทั้งคนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาชอบ แล้วเราก็มาใส่ตัวแปรเพิ่มว่า ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นไปตามนี้ ถ้าตัวแคนดิเดตหรือผู้นำพรรคการเมืองมีเสน่ห์-บารมี (charismatic leader) ก็จะสามารถดึงคนออกจาก median voter theorem ได้ แล้วอาจจะโหวตให้คนที่ซ้ายกว่าหรือขวากว่าได้ ซึ่งวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาก็เป็นเรื่องสมการล้วนๆ
ทำไมถึงเลือกไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส
ที่จริงอยากไปเรียนที่เยอรมนีมากกว่า เรียนภาษาเยอรมันแล้วด้วยนะ แต่สมัครไปหลายที่ แล้วที่ฝรั่งเศสตอบรับก่อน เราก็ตื่นเต้นว่าติดที่ Toulouse School of Economics จะได้ไปเรียนกับฌอง ติโรล (Jean Tirole) ตอนนั้นเขายังไม่ได้รางวัลโนเบล แล้วมหาวิทยาลัยนี้แรงกิ้งดี ก็เลยเลือกเรียนที่นั่น
สุดท้ายเราได้เรียนวิชา industrial organization กับฌอง ติโรลประมาณ 3 ชั่วโมง แต่เราจะเล่าไปถึงลูกหลานเลยว่าได้เรียนกับฌอง ติโรลแล้ว (หัวเราะ) พอเรียนจบกลับมาแล้วเขาถึงได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
การเรียนที่ฝรั่งเศสส่งผลต่อวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ของคุณไหม
ส่งผลมากเลย ที่จริงโรงเรียนนี้ (TSE) เป็นแนวกระแสหลักแบบอเมริกัน ไม่ใช่แบบฝรั่งเศส แต่ก็จะมีบางวิชาที่มีครูแนวฝรั่งเศสจ๋ามาสอนอยู่บ้าง ก็จะมีการถกเถียงกันในห้องเรียน รวมไปถึงการได้ถกเถียงนอกห้องกับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนฝรั่งเศสหรือคนยุโรป ซึ่งเขาจะมีแนวคิดคนละแบบกับเศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนมา ทำให้ได้เถียงกับเพื่อนทุกเย็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองในฝรั่งเศส แต่ละนโยบายมันดีหรือไม่ดีอย่างไร
ตอนนั้น นิโกลาส์ ซาร์โกซี กำลังขึ้นมา แล้วมันขวาอย่างไร แล้วพรรคฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับการเมืองอเมริกามากกว่า ก็ยังคุยกับเพื่อนเลยว่าพรรคฝ่ายขวาฝรั่งเศสยังซ้ายกว่าเดโมแครตอีก การเรียนที่นั่นส่วนใหญ่จะส่งผลเรื่องวิธีคิดด้านนโยบายมากกว่า
ศึกษาเรื่องนโยบายที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งมา แล้วพอมาเป็นคนมาทำนโยบายจริง เรื่องที่ศึกษามีส่วนช่วยในวิธีการคิดไหม
เรื่องที่ศึกษามันเป็นทฤษฎีเลยแหละ แต่ก็ทำให้เรากล้าที่จะสวิงออกมา เพราะเราคิดว่าเรามีเรื่องอื่นมาชดเชย คนอื่นมองว่าพรรคก้าวไกลกล้าเสนอนโยบายที่สุดโต่งหน่อย ซึ่งตามทฤษฎีแล้วนโยบายสุดโต่งจะได้คะแนนน้อย แต่เรามั่นใจว่าจะได้คะแนนเสียงเยอะ เพราะเรามีข้อดีอื่นมาประกอบ คนไม่ได้เลือกที่นโยบายอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็กล้าที่จะคิดนโยบายที่อาจโดนมองว่าสุดโต่ง เราเชื่อว่าไม่ต้องอยู่ตรงกลางตลอดเวลาหรอก
ในทางเศรษฐศาสตร์คุณจัดว่าตัวเองอยู่สำนักไหนไหม
(คิด) ไม่มี ไม่เป็นสักสำนัก แต่ที่แน่ๆ คือเราไม่ได้ซ้ายแบบที่พรรคอยากให้เป็น จะบอกว่าเป็นปฏิบัตินิยมเดี๋ยวก็ซ้ำกับพรรคอื่น เราอยู่ในวงการวิจัยนโยบายสาธารณะมาจนเห็นว่า การคิดแบบอุดมคติมันทำไม่ได้ในเชิงนโยบาย เราต้องคิดถึงเรื่องความเป็นไปได้ให้มากขึ้น คิดถึงเรื่องการทำให้เกิดขึ้นจริงมากขึ้น
เราเชื่อว่าการที่มีเราเข้ามาทำให้พรรคเริ่มมองในมุมความเป็นจริงมากขึ้น เริ่มคุยกันเรื่องการดำเนินการหรือกระบวนการนำไปปฏิบัติมากขึ้น ลองคิดถึงการอยู่กับคนแบบธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) หรือต๋อม (ชัยธวัช ตุลาธน) เขามักคุยกันเรื่องที่เป็นอุดมคติสุดๆ เราก็จะเป็นคนตบกลับมา “ตื่น! ทำแบบนี้มันทำไม่ได้หรอก” (หัวเราะ)
นโยบายของก้าวไกลออกไปทางสังคมนิยมที่เน้นรัฐสวัสดิการ ซึ่งรัฐต้องเข้าไปจัดการ โดยส่วนตัวคุณมองบทบาทเรื่องรัฐกับตลาดอย่างไร
ก่อนหน้านี้เราเป็นพวกเสื่อมศรัทธาในรัฐไปแล้ว เพราะทำวิจัยเยอะแล้วเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ ถ้ารัฐมันแย่แบบนี้แล้วจะไปมอบหน้าที่ให้เขาทำเยอะๆ ได้อย่างไร ทำไปก็ล้มเหลวอยู่ดี แต่พอมาทำงานการเมือง เราเริ่มเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่ว่ามันแย่แล้วก็ปล่อยให้แย่แบบนั้นต่อไป สุดท้ายประเทศก็ไม่ไปข้างหน้าสักที เราเองนี่แหละที่ต้องคิดนโยบายที่สร้างประสิทธิภาพให้รัฐด้วย
เรามองเฉพาะเจาะจงไปที่ระบบราชการ เวลาเราพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจก็จะวนกลับมาเรื่องปฏิรูประบบราชการ ซึ่งอาจจะฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่เราเห็นว่าจะไปส่งเสริม SME ได้อย่างไร ถ้าสำนักงานส่งเสริม SME ยังทำงานได้ไม่ดี คุณจะส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มความสามารถในการผลิต ทั้งที่เกษตรอำเภอทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไม่ได้ เราเห็นถึงใจกลางของปัญหาแล้ว นโยบายดีขนาดไหน แต่ถ้าข้าราชการไม่เอาด้วย ไม่ทำตาม ไม่มีความสามารถมากพอ มันก็ไม่มีวันสำเร็จ
คิดว่าบางเรื่องก็ต้องให้รัฐเข้าไปจัดการ?
ใช่ อย่างเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม เราก็เปลี่ยนความคิดเหมือนกัน เมื่อก่อนเราคิดว่าการให้รัฐเลือกสนับสนุนบางอุตสาหกรรมนั้นเราจะเลือกอย่างไรล่ะ ถ้าเลือกผิดขึ้นมาจะทำอย่างไร ก็เลยเชื่อว่าควรให้ตลาดคัดสรรเอง แต่พอเห็นโลกความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ตลาดคัดสรรเองมันไม่ทัน จึงเห็นว่าอย่างไรก็ตามรัฐต้องเข้ามานำทางในบางเรื่องให้เราไปในทางที่อยากให้เป็น ต้องกล้าใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เงินอุดหนุน ต้องกล้าทำมากขึ้น
จากเดิมที่เคยคิดว่า รัฐมันแย่ มันเลือกผิดเลือกถูก ดังนั้นก็ต้องปล่อยให้ตลาดจัดการ แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าปล่อยไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้แน่ ตอนนี้ทุกประเทศทำนโยบายอุตสาหกรรมกันหมด ทุกประเทศแข่งกัน พยายามดึงนักลงทุน พยายามสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง ถ้าเรานั่งเฉยๆ แล้วบอกว่าเดี๋ยวตลาดจะคิดเอง เดี๋ยวตลาดทำให้ ก็ไม่มีทางที่จะแข่งกับเขาทันแน่นอน
ในโลกเศรษฐศาสตร์มีนักวิชาการคนไหนเป็นไอดอลหรือเรายึดถือเป็นต้นแบบไหม
มีคนที่เรายึดถือเรื่องวัตรปฏิบัติ แม้ความคิดอาจไม่ได้ตรงกันทั้งหมด คืออาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ตอนอยู่ปริญญาตรีเราได้ฟังอาจารย์เดือนเด่นนำเสนอผลงานแล้วรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เก่ง อยากเก่งแบบคนนี้บ้าง จึงมีอาจารย์เดือนเด่นเป็นไอดอล พอกลับมาจากฝรั่งเศสจึงอยากไปทำงานกับอาจารย์เดือนเด่นที่ TDRI แต่ก็เสียดายที่พอเข้าไปแล้วไม่ได้ทำงานร่วมกัน
เราชื่นชมอาจารย์เรื่องวิธีการทำงาน ความคงเส้นคงวา หลักการที่แน่นตลอดเวลา รวมถึงการศึกษาเรื่องทลายทุนผูกขาด เรื่องนโยบายแข่งขันทางการค้าที่อาจารย์บุกเบิกไว้
การทำงานเป็นนักวิจัยส่งผลต่อวิธีคิดของคุณอย่างไร
ทำให้เห็นความล้มเหลวของระบบราชการ ชนิดที่ทำให้รู้สึกว่าทำกันแบบนี้แล้วประเทศจะไปข้างหน้าได้อย่างไร ส่วนใหญ่งานที่เราศึกษาคือการวิพากษ์ลงลึกถึงวิธีการทำงานของรัฐ แม้ว่าบางชิ้นเขาจะให้เราทำข้อเสนอแนะก็ตาม
เราเห็นเลยว่าภาครัฐที่อ่อนแอทำให้ภาคเอกชนเข้ามาควบคุมกลไกภาครัฐได้ เช่น ตอนที่ศึกษาเรื่องอ้อยและน้ำตาลที่ TDRI ก็เห็นเลยว่าภาคเอกชนเข้ามาควบคุมทั้งกฎหมายและกลไกต่างๆ งานชิ้นนี้เราทำข้อเสนอไว้ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เอาข้อเสนอมาใช้ เพราะตั้งแต่ตอนทำวิจัยก็เห็นแล้วว่าเอกชนเขาไม่เอาข้อเสนอของเราเลย จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ช่วงที่เป็นนักวิจัยคุณทำวิจัยหลายเรื่อง มีเรื่องไหนที่คิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญที่สุด
มีแต่เรื่องที่อินที่สุดมากกว่า คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่จริงพอทำวิจัยเรื่องนี้เสร็จแล้วเราตั้งใจจะเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง แต่เราออกจากสถาบันอนาคตไทยศึกษาก่อน หนังสือจึงยังค้างคาอยู่ ซึ่งมีหลายประเด็นที่คิดว่ายังไม่มีใครทำ เพราะมีทั้งส่วนวิเคราะห์ตัวเลขในงานวิจัยและส่วนที่พูดถึงความฝันของคนที่เป็นไปได้ยากมาก ความฝันนั้นถูกลดทอนให้เป็นเพียงแค่การมีความหวังในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เช่น ถ้าคุณเป็นคนจน คุณจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าต้องทำงานอะไรถึงจะมีเงินล้าน ทางเดียวที่เขาจะจินตนาการได้ง่ายที่สุดก็คือการซื้อหวย พอสังคมเหลื่อมล้ำมาก หวยกลายเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้คนข้ามชนชั้นได้
ในหนังสืออีกบทหนึ่งก็พูดถึงละครกับความเหลื่อมล้ำในสังคมว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร ทำไมบ้านทรายทองถึงถูกรีเมกสิบกว่ารอบ เพราะนั่นคือความฝันของการได้เลื่อนชนชั้นภายในข้ามคืนของคนจน ฉันอยากตื่นมาพบว่า จริงๆ แล้วฉันเป็นลูกของมหาเศรษฐีที่โดนพลัดพรากไป ฉันอยากมีเจ้าชายขี่ม้าขาวหรือท่านชายมาแต่งงานด้วย ยิ่งละครผลิตซ้ำทุกยุคทุกสมัย ยิ่งสะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำที่กดทับผู้คนยังคงอยู่ ยังไม่หายไปไหน
แล้วก็มีบทที่พูดถึงสาวโรงงาน โดยวิเคราะห์ถึงความยากจนข้ามรุ่นจากข้อมูลพาแนล (panel data) คนคนนี้ในช่วง 8 ปีที่แล้วทำอะไร แล้ว 8 ปีต่อมาเป็นอย่างไร เรียนจบอะไร แต่งงานหรือเปล่า ซึ่งก็พบว่าสาวโรงงานส่วนใหญ่แต่งงาน แต่อาชีพอันดับหนึ่งของสามีคือตกงาน ทำให้โดยเฉลี่ยเงินเดือนของสาวโรงงานจะสูงกว่าของสามี
เรื่องพวกนี้เราเขียนไว้แต่ยังไม่ได้รวบรวมตีพิมพ์ออกมา เสียดายเหมือนกันเพราะปลุกปั้นมาหลายปี
ตอนตัดสินใจว่าจะมาทำงานการเมือง คาดหวังกับตัวเองอย่างไร
ไม่มีเลย มาเป็น ผอ.ฝ่ายนโยบายก็คิดว่าคงอยู่หลังบ้านทำนโยบายไป เพราะที่ผ่านมาคนก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดนโยบายนี้ของพรรคการเมืองอื่น แต่เราเข้าพรรคอนาคตใหม่มาได้อาทิตย์เดียวเขาก็ให้ขึ้นเวทีเปิดหน้า วันนั้นเราก็ยังไม่ได้คาดหวังว่าต้องมาเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ คิดว่าอยู่หลังบ้านแบบนี้แหละดีแล้ว
แต่ปรากฏว่าอยู่ในรายชื่อ สส. ปาร์ตี้ลิสต์?
ใครมันจะไปคิด (หัวเราะ) ตอนนั้นประมาณเดือนธันวาคม 2561 ทางพรรคบอกว่าให้อยู่ในอันดับ 20 คนแรก เราก็คิดประมาณ 30 วิ. โอเค ได้ค่ะ ก่อนหน้านั้นเราก็เคยคุยกับเพื่อนว่าจะเอายังไงดี ถ้าเป็น สส. แล้วยังกลับไปเป็นนักวิชาการได้อยู่หรือเปล่า เพื่อนก็บอกว่าอันดับปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้เข้าสภามาไม่ถึงเราหรอก เราเองก็ไม่คิดนะ คิดแค่ว่าทำงานเพื่อส่งธนาธรและปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล) ได้เข้าไปพูดในสภา 2 คนก็ดีใจแล้ว แต่ก็จับพลัดจับผลูมาเป็น สส.
ที่บ้านคุยกันอย่างไร อยู่ๆ ลูกไปเป็น สส.
แม่อยากให้ลาออก บอกตลอดเวลาว่าอย่าไปทำเลยลูก การเมืองมันอันตราย ไม่มีใครส่งเสริมเลย แล้วตอนที่มีวิวาทะกับพลเอกประยุทธ์ (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เขาชี้หน้าเราแล้วบอกว่าระวังตัวนะ โอ้โห แม่มาบอกเลย ลาออกมาอยู่บ้านเรานี่แหละ ไม่ต้องไปทำแล้วลูก แต่ตอนหลังพอเห็นว่าเราได้รับความยอมรับมากขึ้น เขาก็อินไปกับเราด้วย
พอมีข่าวว่าพรรคจะโดนยุบ แม่ก็พูดเหมือนเดิมว่าให้กลับไปอยู่บ้าน ไม่ต้องเป็นแล้วนักการเมือง
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ เราไม่คิดว่ามันเพ้อฝัน ถามว่ามันยากไหม มันยาก แต่ต้องมีคนเข้าไปจุดประกายให้มันสามารถลุกโชนได้ต่อเนื่อง
ตั้งแต่ทำงานกับอนาคตใหม่และก้าวไกลมา อะไรคือเรื่องยากสุด คนในพรรคจำนวนมากเป็นนักกิจกรรมมาก่อน มีอะไรที่เป็นอุปสรรคไหม
ไม่ใช่อุปสรรคหรอก ไม่ใช่เพราะความเป็นนักกิจกรรมด้วย แต่คนเรามีความคิดที่ต่างกัน ก็ต้องค่อยๆ คุยกันด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่ไม่เคยถึงขั้นทะเลาะกัน
ต้องบอกว่ามีบางนโยบายหรือความคิดเห็นบางอย่างที่เราต้องเลือกที่จะไม่พูด ถ้าเป็นนักวิชาการเราก็คงพูดออกมาเลย แต่พอมาเป็นนักการเมือง เราก็ต้องเลือกที่จะไม่พูดในบางเรื่องเหมือนกัน คำพูดที่เราจะได้ยินในพรรคบ่อยคือ “คุณต้องเป็นนักการเมืองมากกว่านี้” หรือ “ตอนนี้ไหมเป็นนักการเมืองมากขึ้นแล้ว” (หัวเราะ)
นโยบายของก้าวไกลมักถูกวิจารณ์ว่าอุดมคติ เพ้อฝัน แล้วในฐานะคุณที่บอกว่าตัวเองมองโลกแบบความเป็นจริง คุณคิดเห็นอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ เราไม่คิดว่ามันเพ้อฝัน ถามว่ามันยากไหม มันยาก แต่ต้องมีคนเข้าไปจุดประกายให้มันสามารถลุกโชนได้ต่อเนื่อง เราพูดถึงเรื่องปฏิรูประบบราชการ เรื่องเปลี่ยนหน้าตาภาคการเกษตรไทย เรื่องดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แน่นอนว่ามีแต่เรื่องสุดยอดแห่งความท้าทาย แต่อย่างไรเสียก็ต้องมีคนเข้าไปเริ่ม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปเรื่อยๆ แบบนี้ รวมถึงเรื่องปฏิรูประบบภาษี เราต้องใช้ความกล้าหาญมากในฐานะที่เป็นนักการเมืองแล้วมาพูดเรื่องเก็บภาษีเพิ่ม ไม่มีใครเขาพูดหรอก แต่ต้องมีคนเข้าไปจุดประกาย ไปเริ่มต้น
มันยาก แต่ไม่ใช่อุดมคติจนเป็นไปไม่ได้
จากคนที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์ในเชิงวิชาการ พอเป็นคนทำนโยบายที่ต้องเอาไปใช้จริงแล้วแตกต่างกันมากไหม ต้องคำนึงโจทย์เรื่องประชานิยมไหม
ดีที่พรรคไม่ได้บีบบังคับให้เราต้องออกนโยบายที่เอาไว้สร้างความนิยมอย่างเดียว ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยทำการตลาดการเมือง (political marketing) จนสร้างภาพจำสูตรสำเร็จของความเป็นประชานิยม ซึ่งกินง่าย เข้าใจง่าย ได้ผล คนชอบ แต่เมื่อเรามาทำนโยบายเอง ทางพรรคก็ให้อิสระ บอกว่าจะคิดนโยบายยากๆ ก็ได้ ถ้าเป็นนโยบายที่จะตอบโจทย์ประเทศจริงๆ ยากแค่ไหนก็ต้องทำ แล้วเดี๋ยวทีมสื่อสารจะไปพยายามทำให้มันง่ายขึ้นเอง
แน่นอนว่ามีความท้าทาย บางครั้งไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ-โฆษกพรรคก้าวไกล) เห็นนโยบายที่เราทำไปแล้วคงอยากโวยว่าทำแบบนี้แล้วเขาจะเขียนสื่อสารให้สั้นๆ ง่ายๆ ได้อย่างไร เขาคงเกลียดเราอยู่ (หัวเราะ) แต่ที่ผ่านมาเราก็ทำนโยบายโดยไม่ได้เลือกชูเรื่องความง่าย ทางพรรคก็ยอมให้เราพูดเรื่องยากๆ เรื่องที่ซับซ้อน
จากที่คนในพรรคต้องบอกให้คุณ ‘เป็นนักการเมืองมากขึ้น’ จากวันแรกถึงวันนี้ประเมินตัวเองอย่างไร เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอย่างไร
มันขึ้นอยู่กับหมวกที่สวมอยู่ ตัวตนของเราเวลาที่ถอดหมวกนักวิชาการออกอาจจะใกล้เคียงกับที่เป็นทุกวันนี้มากกว่า แต่พอสวมหมวกนักวิชาการ เราก็ต้องรักษาหลักการของงานวิชาการ ซึ่งในหลายๆ เรื่องไม่สามารถพูดสั้นๆ ได้ แต่ต้องวิจารณ์ถึงข้อดีและข้อเสีย
เมื่อเราสวมหมวกนักการเมืองก็สามารถแสดงความเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งการอภิปรายในสภาและปราศรัยหาเสียงเราก็ต้องสวมวิญญาณนักการเมือง ต้องปลุกอารมณ์คนฟัง แน่นอนว่ามันต้องเกินความเป็นวิชาการไปเยอะเลย ตอนที่มีชื่อจะเป็นรัฐมนตรีก็มีคนพูดว่า “ไม่มีแคนดิเดตรัฐมนตรีคลังประเทศไหนที่ลุกขึ้นมาปราศรัย” มันคงเป็นเส้นแบ่งว่าเขาต้องคงความน่าเชื่อถือในทางวิชาการไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ตอนที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งแล้วมีชื่อคุณเป็นว่าที่รัฐมนตรีคลัง สิ่งที่ตามมาคือข้อวิพากษ์วิจารณ์เยอะมากถึงความเหมาะสม เรื่องไหนที่บั่นทอนจิตใจมากที่สุดและเรื่องไหนที่คิดว่าเป็นข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจ
หากเป็นการวิจารณ์เชิงเนื้อหาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูดก็ถกกันได้ ซึ่งช่วงนั้นมีการจัดวงพูดคุยทำความเข้าใจหลายวง เราก็เจอข้อจำกัดว่าบางเรื่องไม่สามารถที่จะทำให้คนเข้าใจตรงกันได้ เพราะเป็นคนละวิธีคิดกันเลย เช่น คนบางกลุ่มเชื่อในปัจเจกนิยม (individualism) ว่าคนขยันจึงรวย เขารวยหุ้นแล้วคุณจะไปเก็บภาษีเขามันไม่แฟร์ เพราะเขาก็หากินอย่างยากลำบาก
แต่ก็จะมีข้อวิจารณ์ที่เราฟังแล้วท้อ คือเรื่องที่เรากลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เช่น เรซูเม่ อายุ ประสบการณ์ยังไม่พอ หรือการพูดว่าคนแบบนี้ไม่มีวันคู่ควรกับการเป็นรัฐมนตรี
ช่วงที่เจอคำวิจารณ์หนักๆ จิตตกไหม
ตกอยู่ประมาณหนึ่งวันครึ่ง เราก็ปิดตัวเองจากโซเชียลมีเดีย ไปทำอย่างอื่น พอไม่เห็นก็ไม่คิด หากเป็นการวิจารณ์เรื่องเนื้อหาความคิดที่เห็นว่ายังไม่ดี เราก็สามารถแก้ไขได้ ปรับได้ อธิบายได้ แต่หากเป็นความเห็นว่าเพราะเป็นผู้หญิงหรือเพราะไม่เคยเป็นผู้บริหาร เราไม่รู้จะแก้อย่างไร เหมือนเป็นการตีตราไปเลยว่าคนแบบนี้ เกิดในชาติตระกูลแบบนี้ เรียนมาแบบนี้ ไม่เคยบริหารงานในธุรกิจระดับพันล้าน ชาตินี้คุณก็จะไม่มีวันได้เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยที่ไม่ต้องดูเลยว่าเขาเคยพูดอะไร วิธีคิดเป็นแบบไหน มีความเชี่ยวชาญหรือเปล่า ก็น่าเศร้าอยู่
ข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นช่วงนั้นคือคำวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หน้าตา การแต่งกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการเมืองชายโดนน้อยกว่ามาก คุณคิดว่าเรื่องเพศมีส่วนไหม
ก็ใช่นะที่นักการเมืองชายไม่ค่อยโดนวิจารณ์แบบนี้ เช่น วันอภิปรายนโยบายรัฐบาลเราใส่เสื้อที่มีโบใหญ่ ปรากฏว่าพูดกันแต่เรื่องโบ ไม่พูดถึงเรื่องที่เราอภิปรายในสภา ก็ชวนให้คิดว่าเป็นอคติทางเพศหรือเปล่า หรือช่วงที่เราโดนโจมตีเยอะๆ ก็มีคนพูดไปถึงขั้นว่าเป็น misogyny หรือเปล่า คือเกลียดเพราะว่าเราเป็นผู้หญิง
ที่จริงเราไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นเรื่องอคติทางเพศ แต่เรารู้สึกว่าเพราะเราไม่ belong to the club เราไม่ได้เป็นอีลีต เป็นใครก็ไม่รู้ อ่านโพรไฟล์แล้วดูเป็นคนธรรมดามากเหลือเกิน ยังไงก็ไม่ใช่ ไม่คู่ควร แต่ก็แปลกว่าพอมีการตั้งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขึ้นมาจริงๆ แล้ว คนก็เลิกคุยเรื่องนี้ไปเลย
ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐมนตรีคลังเป็นผู้หญิงมาก่อน คิดว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นไหม หรือทำไมพอเป็นกระทรวงการคลังแล้วคนจึงคาดหวังรัฐมนตรีที่ชาติกำเนิดและการศึกษาเพียบพร้อมมากกว่ากระทรวงอื่น
ในสายเศรษฐศาสตร์ต้องยอมรับว่ามีผู้หญิงเรียนน้อยอยู่แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าเหตุที่เราไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้หญิงมาก่อน เพราะมีตัวเลือกไม่มากเท่าผู้ชายหรือเปล่า หรือเพราะเหตุผลอะไร
ก่อนจะมีการตั้งรัฐมนตรี เพื่อไทยเขาก็พูดเหมือนกันว่าถ้าเป็นรัฐมนตรีคลังของพรรคเขา เขาจะเอาคนนอกมา แต่สุดท้ายการให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นรัฐมนตรีคลังสะท้อนว่าเขาก็หาตัวคนไม่ได้เหมือนกัน มันน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ ซึ่งเขาน่าจะรู้สึกไว้ใจคนที่มาจากชนชั้นเดียวกับพวกเขามากกว่าเอาใครก็ไม่รู้มา เพื่อจะได้มั่นใจว่าเป็นคนที่คิดเหมือนกัน มีแนวทางเดียวกัน
ทำงานในสภามาหลายปีแล้ว มองวัฒนธรรมการอภิปรายในสภาไทยอย่างไร อยากเห็นพัฒนาไปแบบไหน
ถึงวันนี้ก็มีการพัฒนาขึ้นมาก ไม่ใช่แค่การอภิปรายในสภา เวลาคุยอะไรกันทุกคนต้องมีข้อมูลมีตัวเลขมาคุยกัน มีหลายเรื่องที่เราเข้าไปผลักดันให้เปลี่ยนแปลงแล้วมันเปลี่ยนจริง
ตัวอย่างเรื่องการอภิปรายงบของส่วนราชการในพระองค์ เราอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณมา 5 ปี
ปีแรกไม่มีการชี้แจงอะไร ข้ามไปเลย
ปีที่ 2 สำนักงบประมาณเป็นคนมาชี้แจง ซึ่งประหลาด เพราะทุกหน่วยงานจะมีหัวหน้าหน่วยราชการเป็นคนมาชี้แจง ปีนั้นธนาธรได้ถามอยู่หนึ่งประโยคแล้วเขาก็ตอบ
ปีที่ 3 สำนักงบประมาณมาตอบแบบมีรายละเอียดเพิ่มเติมประมาณ 1 หน้า แล้วก็ตอบคำถามในหลายๆ เรื่อง เช่น เราถามว่ามีข้าราชบริพารกี่คน มีงบลงทุนไหม มีจ่ายโอทีล่าช้าหรือเปล่า เขาก็ตอบได้เฉพาะบางส่วนที่เขาเตรียมมา เพราะเขาไม่ใช่หน่วยงานนี้ ก็ถกกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งเราเห็นว่ามีการพัฒนา
ปีที่ 4 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคนมาตอบ มีวีดิทัศน์มาบรรยาย มีเอกสารชี้แจง 8 หน้า พอมีการกระตุ้นเขาก็มีการปรับตัว เปลี่ยนวิธีการ
ข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ก็เหมือนกัน มีการเตรียมตัว ทำการบ้านมาหนักขึ้น ดีขึ้น เพราะคนถามก็ทำการบ้านมา อ่าน วิเคราะห์มาเป็นอย่างดีและตั้งคำถามถูกจุด ทำให้ข้าราชการต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การอภิปรายในสภา แต่ทุกคนในองคาพยพที่ทำงานร่วมกับเรามีการเปลี่ยนแปลง
ระยะหลังคุณวิจารณ์พรรคเพื่อไทยหนักหน่วง คุณมองพรรคนี้ในพื้นที่การเมืองไทยปัจจุบันอย่างไร ภาพในอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนไปไหม
เราไม่ได้มองเปลี่ยนไปเลย แต่ก็จะมีมายาคติที่เราต้องสู้มาตลอด 4 ปี ในฐานะที่เราเป็นคนดูแลด้านเศรษฐกิจของพรรค เราโดนคนเหยียดหยามมาตลอดว่าด้านเศรษฐกิจของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลมันอ่อนมาก ไม่มีทางสู้พรรคเพื่อไทยได้ เราต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลาว่านโยบายเรามีดีอะไรบ้างอย่างไร ตอบจนไม่รู้จะตอบอย่างไรแล้ว ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งไม่ต้องตอบคำถามอะไรพวกนี้เลย เหมือนเขาได้ชื่อว่าคือเบอร์ 1 คือตัวจริง นโยบายเศรษฐกิจของเขาดีมาก เราก็เลยถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นบอกมาว่านโยบายไหนที่ว่าดี ทั้งที่มันเป็นเรื่องของบุญเก่า
ตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา มีเรื่องไหนที่ประทับใจที่สุด
การที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง อันนี้น่าจะเป็นจุดสูงสุดในชีวิตแล้ว ไม่รู้ว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร จะบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้ายก็ได้ แต่คนอื่นอย่างต๋อม หรือทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) เขาจะมองผลเลือกตั้งแบบมันต้องเป็นไปได้ ชนะแน่ๆ ได้แน่ๆ แต่เราจะคิดแค่ว่าจะได้เท่าเลือกตั้งครั้งที่แล้วหรือเปล่า ต่อให้ได้ สส. 30 คนก็ยังทำพรรคต่อนะ หรือถ้าได้ 50 คนก็โอเคแล้ว ดังนั้นพอผลเลือกตั้งออกมาว่ามีคนเลือกก้าวไกล 14 ล้านคน เท่านี้ก็เป็น hall of fame สำหรับเราแล้ว
ถ้าวันหนึ่งมีเหตุบังเอิญให้ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค คิดว่าคุณสมบัติหัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องเป็นอย่างไร
พูดยากเหมือนกันว่าต้องเป็นแบบไหน พรรคนี้ไม่ต่างอะไรกับบริษัทสตาร์ตอัปเลย เราเพิ่งจะอายุ 4 ปี ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้น ยังไม่สามารถตกผลึกได้ว่าผู้นำแต่ละรุ่นของเรามีคุณสมบัติร่วมอย่างไร แต่เราคิดว่าคงต้องเป็นหัวหน้าที่พร้อมจะเสียสละ เพราะยังมีอีกหลายเหลี่ยมมุมมากที่ต้องไปจัดการ ทั้งงานในสภา งานเชิงนำเสนอทางเลือกการแก้ปัญหาให้สังคม งานสร้างพรรค งานสร้างมวลชน ระดมเครือข่าย ทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องทำในเวลาเดียวกัน
ดังนั้น คนคนเดียวไม่มีทางทำทั้งหมดนี้ได้ แต่ต้องเป็นคนที่กล้าไว้วางใจให้คนที่มีความสามารถไปทำงานในแต่ละด้าน ทั้งไว้ใจ ทั้งต้องไปขับเคลื่อนงานเอง ใช้หลากหลายทักษะมากๆ ในการจะทำให้พรรคนี้เติบโตอย่างเข้มแข็งขึ้นมาได้ต่อ
แล้วสมมติว่าเป็นคุณ คิดว่าพร้อมไหม
ท้าทายมากเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาเราอยู่ฝั่งนโยบายหรือไม่ก็อยู่สภา แทบไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในงานสร้างพรรคสักเท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นส่วนที่แทบจะสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานการเมืองกันยาวๆ ทำพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองให้ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งยอมรับว่าทิมและต๋อมเขาทำเรื่องเครือข่ายได้ดี
การให้ความสำคัญกับเรื่องจีดีพีมากเกินไป ทำให้เราละเลยอะไรหลายอย่าง ทั้งที่เราต้องการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
ถ้าให้วิจารณ์ตัวเองคิดว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องพัฒนาอีกบ้าง
ต้องเป็นนักการเมืองมากกว่านี้ (หัวเราะ) เราคงต้องทำตัวให้มีความเป็นนักการเมืองมากขึ้น เราเป็นคนพูดตรง หลายครั้งพูดไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษกับพรรคมากกว่า ถ้ามีใครถามว่าอยากเป็นหัวหน้าพรรคไหม เราก็คงบอกว่าไม่ได้อยากเป็น ถ้าถามว่าอยากเป็นรัฐมนตรีไหม เราก็บอกว่ายิ่งไม่อยากเป็น
เราเคยพูดในหลายๆ สื่อว่า เราไม่ได้มีความเป็นรัฐมนตรีเลย เรามีความเป็นที่ปรึกษา คนที่จะเตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้ให้คุณได้อ่าน แล้วให้คุณเป็นคนตัดสินใจ เราอาจไม่ใช่คนที่สามารถฟันธงเด็ดขาด หรือนักบริหารที่กล้าตัดสินใจ ทำอะไรเสี่ยงๆ หรือคนที่มีเทคนิคการบริหารบุคคลเป็นเลิศ เราก็ยังคงเป็นนักวิชาการที่กลายมาเป็นนักการเมือง บุคลิก นิสัย หรือวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ซึ่งเราก็ชอบพูดตรงๆ แบบนี้ไง
ไม่เคยฝันไว้เลยเหรอ เช่น เป้าหมายสูงสุดทางการเมืองคือเป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่เคยคิดเลยเรื่องนายกรัฐมนตรี ความฝันสูงสุดของการเป็นนักการเมืองคืออยู่บ้านพิษณุโลก เป็นทีมที่ปรึกษา คอยไปช่วยดูแลหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน แบบนี้น่าจะเป็นงานที่เราถนัดมากกว่า
ถ้าเลือกได้ เราอยากเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี คอยเตรียมข้อมูล อภิปรายข้อดีข้อเสีย รวมไปถึงขับเคลื่อนงานในแต่ละหน่วยงานให้กับนายกรัฐมนตรี
คิดว่าคนเป็นนายกฯ ควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในการเมืองไทย
แน่นอนว่าต้องเป็นคนเรียนรู้เร็ว เพราะจะมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา อันนี้เห็นจากภาพสะท้อนที่เราเพิ่งเปลี่ยนนายกฯ ไป เรื่องที่เห็นได้ชัดคือการเข้าใจกระบวนการในระบบราชการก็สำคัญสำหรับคนที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ การบอกว่าฉันเพิ่งมา ฉันไม่รู้ ฉันอยากทำอะไรก็ทำ บางครั้งก็กลายมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้งานเดินได้ช้ากว่าปกติ
คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีต้องรู้กว้างและเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้เร็ว ไม่ใช่ว่าต้องมาคอยให้ learning curve ของคุณไต่ แล้วเราถึงจะได้ผลงานออกมา ประเทศก็เสียโอกาสเหมือนกัน
แล้วเป้าหมายทางสังคมของคุณคืออะไร
เราฝันถึงสังคมที่เปิดกว้าง ให้โอกาสกับคน พอย้อนมองชีวิตตัวเราเองแล้วก็รู้สึกว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่าที่เราได้โอกาสดีๆ ในชีวิต ทั้งที่เราไม่ได้มีเงินทองมากมายที่จะไปคว้าโอกาสต่างๆ ได้มากขนาดนั้น เราโชคดีหลายอย่าง แม้จะเรียนโรงเรียนรัฐ แต่ก็เป็นโรงเรียนที่ดีตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย พอไปเรียนต่อเมืองนอกก็เป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่ดีและถูก ทำให้เรามีโอกาสไปเรียนต่อ
เราไม่รู้ว่าโอกาสที่เราเคยได้ตอนเด็กจะยังคงส่งผ่านไปให้เด็กรุ่นต่อไปได้เหมือนเดิมหรือเปล่า ทุกวันนี้โรงเรียนรัฐที่คนทั่วไปเข้าถึงยังมีคุณภาพดีอยู่หรือเปล่า ถ้าโรงเรียนไม่สามารถเป็นบันไดให้คนไต่ข้ามชนชั้นแบบเราได้ก็คงน่าเสียดาย
ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดทางสังคมที่เราอยากเห็นคือเป็นสังคมที่เปิดกว้างและการันตีโอกาสให้กับทุกคน เพื่อที่จะไขว่คว้าโอกาสของตัวเองได้และมีความเสมอภาคกันมากยิ่งขึ้น
เป้าหมายทางเศรษฐกิจล่ะ ถ้าคุณเป็นคนที่มีอำนาจบริหารจัดการทุกอย่างได้ อยากพาประเทศไปให้ถึงจุดไหน
เราเบื่อการที่คนพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจโต เรื่องเศรษฐกิจโตเอาไว้ดึงดูดนักลงทุนได้ ทั้งนักลงทุนในตลาดเงิน ตลาดหุ้น หรือนักลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องจีดีพีมากเกินไป ทำให้เราละเลยอะไรหลายอย่าง ทั้งที่เราต้องการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
การทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น คือ ชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำต้องลดลง ทำให้คนเกือบจนเลื่อนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางและเป็นคนมีอำนาจซื้อ การจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ ไม่ใช่ว่าเป็นประเทศที่พึ่งแต่ภาคส่งออก พึ่งแต่นักท่องเที่ยว จนทำให้ข้างในเปราะบางมาก พอมีอะไรมากระทบนิดหนึ่งเศรษฐกิจก็สะเทือน
การทำให้เศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่ว่าโตแบบกลวง เช่น พอนักท่องเที่ยวเข้ามาเศรษฐกิจก็โตไว แต่พอนักท่องเที่ยวไปก็ไม่เหลืออะไรเลย หรือว่าภาคส่งออกดี แต่เมื่อของที่เราเคยส่งออกมันล้าสมัย แล้วหาสินค้าใหม่มาทดแทนไม่ได้ก็จบเลย แต่ถ้าเรามีเศรษฐกิจในประเทศที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เรามีกำลังซื้อ มีรายได้ มีทักษะ สามารถหารายได้เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ มันจะเป็นการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในอนาคตโดยที่มีความยืดหยุ่นต่อวิกฤตต่างๆ มากขึ้น
แน่นอนว่าเรื่องนี้ฟังแล้วอาจจะไม่เซ็กซี่เหมือนการพูดถึงจีดีพีโตทีละ 5% แต่นี่คือสิ่งที่ควรจะต้องเป็น ไม่ใช่ว่าโตอยู่หยิบมือเดียวแล้วจะฉุดกระชากลากจูงประเทศนี้ให้โตไปเรื่อยๆ เราต้องทำให้ฐานล่างเข้มแข็งด้วย
ถ้าสามารถคุยกับตัวเองใน 10 ปีที่แล้วและในอนาคต 10 ปีข้างหน้าได้ อยากจะบอกอะไรกับตัวเอง
10 ปีที่แล้วเป็นปีที่รัฐประหารพอดี ตอนนั้นเราทำงานที่สถาบันอนาคตไทยศึกษา เราก็คงบอกกับตัวเองว่า ทำวันนั้นให้มันดีที่สุด ถามว่าถ้าเรากลับไปเปลี่ยนอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ เราจะลาออกจากสถาบันวิจัยเล็กๆ แล้วไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ ให้ดูมีคุณสมบัติเหมาะสมมากขึ้นในฐานะนักการเมืองไหม เราก็คงตัดสินใจแบบเดิมอยู่ดี การทำงานที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาเป็นช่วงเวลาดีๆ แน่นอน ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันหนึ่งเด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งจะเป็น สส. ได้โดยที่ไม่รู้จักใครในแวดวงการเมือง ไม่ได้มีเส้นสาย ไม่ได้เป็นลูกนักการเมืองท้องถิ่น ฉะนั้นเราจะตัดสินใจแบบเดิม
ส่วนในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าวันนั้นเรายังทำงานการเมืองอยู่จะบอกตัวเองว่าเลิกได้แล้ว (หัวเราะ) เราไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเลย การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เพราะมีคนหน้าใหม่ๆ เข้ามา เราอยู่ใน กมธ. งบประมาณหลายปีก็เริ่มรู้สึกชินไปเรื่อยๆ ปีแรกที่เข้ามาเห็นทุกอย่างเป็นปัญหาหมด แต่พอเวลาผ่านไป เราเข้าใจว่าทำไม สส. คนอื่นที่เป็น กมธ. มาหลายสมัย เขาจึงเลิกพูดถึงปัญหาไปแล้ว เพราะเกิดความชินและความปลง
ความชินกับความปลงทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น เราต้องคอยเติมคนหน้าใหม่ๆ ที่ยังมีไฟต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เข้ามาเรื่อยๆ เราต้องมีน้ำใหม่เข้ามาเติม ไม่อย่างนั้นความเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองแบบก้าวไกลจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้
ดังนั้น เราคิดว่าจะเป็น สส. อย่างเต็มที่สัก 3 สมัยแล้วรีไทร์ เปิดให้คนใหม่ๆ เข้ามาเป็นผู้แทนฯ แล้วเราหลบไปช่วยงานหลังบ้าน ต้องคอยหาคนใหม่ๆ เข้ามาเติมเชื้อไฟให้มันลุกโชนอยู่เรื่อยๆ อย่ายึดติดกับตำแหน่ง
บรรณาธิการ The101.world อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ อดีตนักเรียนการละครและปรัชญา
เรียนจบนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจวิถีชีวิตผู้คน ดนตรี สิทธิมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานภาพถ่ายและวิดีโอ