ฟื้นสัมพันธ์ “ซาอุดีอาระเบีย” รอบ 32 ปี จากนี้ “ไทย” ต้องไปทิศทางไหน

ฟื้นสัมพันธ์ “ซาอุดีอาระเบีย” รอบ 32 ปี จากนี้ “ไทย” ต้องไปทิศทางไหน

การเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แน่นอน เรื่องที่เป็นที่โจษจันในขณะนี้ คือการพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่แบบหมดรูปของพรรคพลังประชารัฐ ต่อพรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่เก่า ทำให้นายสุรชาติ เทียนทอง ได้กลับเข้าสภาแบบสมใจนึก 

ลำพังการพ่ายแพ้นั้น เอากันตามความเป็นจริงก็เป็นไปตามคาด ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด แต่ที่ดูมีเซอร์ไพรส์จริง และกระทบชิ่งแบบช่วยไม่ได้ คือการตีความหมายการเมืองหลังจากนี้ ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการ ต่างก็ตีความเกือบตรงกันว่า เบื้องหลังคือ การสิ้นมนตร์ขลังของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้กุมบังเหียนรัฐบาลบิ๊กตู่ ถึงขนาด นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวระหว่างการแถลงชัยชนะเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ เมื่อคืนวันที่ 30 ม.ค.65 ที่พรรคเพื่อไทย โดยมั่นใจว่า

หากมีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อไหร่ ไม่ว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ จะเลือกตั้งเร็ว หรือจะอยู่จนหมดอายุรัฐบาลในปีหน้า 2566 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะมีชัยชนะ เหนือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลแบบแลนด์สไลด์ แน่นอน อันนี้ ก็ต้องจับตาดูอนาคตข้างหน้ากันต่อไป

ขณะการเมืองอีก 1 เรื่อง ที่น่าสนใจก่อนหน้าคือ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บินไปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี กับประเทศไทย หลังทั้ง 2 ประเทศ ลดความสัมพันธ์กันมากว่า 30 ปี จากปมปัญหาคดี “เพชรซาอุฯ”    

งานนี้เบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์ของ 2 ประเทศ มีเหตุผลอะไร ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน และจากนี้ประเทศไทยเรา ควรจะเดินไปในทิศทางไหน ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ลองไป “ล้วง แคะ แกะ เกา” มาให้รู้กัน  

ซาอุฯ ฟื้นฟูสัมพันธ์กับ ไทย รอบกว่า 30 ปี แท้จริง ต้องการแผ่อิทธิพลเข้ามาในอาเซียน? 

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึง การพยายามแผ่อิทธิพลของซาอุดีอาระเบีย เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการมาฟื้นสัมพันธ์การทูตกับไทยนั้น เป็นความพยายามของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางแข่งกับประเทศอิหร่าน แต่การแผ่อิทธิพลเข้ามาเป็นเป้าหมายของทุกประเทศมหาอำนาจในโลกอยู่แล้ว ส่วนจะเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่ประเทศไทย เราก็ต้องรู้เขาต้องการอะไรจากเรา ส่วนกรณีได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่ระดับเป็นปกติ เขาเองก็เห็นประโยชน์ที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย ซาอุดีอาระเบียเองก็เห็นว่ากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หากความสัมพันธ์กับไทยยังเป็นเช่นนี้เพราะกรณี เพชรซาอุฯ ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร

ทาง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ของเขา ซึ่งต้องถือว่า ในขณะนี้เองก็เป็นผู้นำที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ก็ต้องการแสดงความคิด และแนวทางวิสัยทัศน์ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อตอบสนองนโยบาย “ซาอุฯ ยุคใหม่” ที่จะไม่พึ่งเพียงแค่พลังงานเพียงอย่างเดียว เขาพยายามพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเหมือน “สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์” (ยูเออี) ซึ่งไทยเองก็ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน ขณะมกุฎราชกุมารพระองค์นี้เอง ก็มีข่าวขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาก่อนหน้าจนเป็นข่าวไปทั่วโลก กรณีสื่อฯ ถูกสังหาร

“ฉะนั้น การที่มีการหวั่นเกรงว่า “ซาอุดีอาระเบีย” จะเข้ามาแผ่อิทธิพลในไทยนั้น โดยเฉพาะเรื่องเผยแผ่ศาสนา ก็ขึ้นอยู่ที่ไทยเราว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ประโยชน์ที่สุด โดยที่เราก็ต้องรับทราบ และหากเขามาทำอะไรที่ไม่เหมาะจริงๆ สำหรับประเทศเรา ไทยก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับทั้งหมด ทาง ซาอุฯ เองต้องการแสดงให้เห็นว่า “ผู้นำคนใหม่” ของเขา ก็ไม่นิยมพวกสุดโต่งทางศาสนา” ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าว…

ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์ไทย ถือเป็นโอกาสดี ให้มาช่วยเจรจาปมความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่แน่ใจ เพราะปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันสลับซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างเดียว ก็ไม่แน่ใจนะว่าหากทำเช่นนั้นจริงจะมีส่วนอย่างไรในการแก้ไขปัญหา เพราะหากจำกันได้ก็เคยมีองค์กรอิสลามเข้ามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี แต่ก็มองว่าไม่มีอะไรต้องคัดค้าน ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประเทศเรา

ไทยอาจใช้ประโยชน์จากการปรับความสัมพันธ์ “เจรจาซื้อน้ำมันได้ถูกลง” จริงหรือไม่?

ผอ.วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้าฯ กล่าวอีกว่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจอีก เพราะเรื่องนี้ก็ถือเป็นประโยชน์ของประเทศเขา จะช่วยขายให้เราในราคาพิเศษหรือเปล่า? แต่การที่จะทำอะไร ก็ต้องไม่เป็นการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้ว อย่าลืมว่า “อิหร่าน” คู่แข่งของ “ซาอุฯ” ก็ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเรา ซึ่งเราเองก็ยินดีต้อนรับทุกประเทศ หากการเข้ามา ตราบที่ไม่เป็นการแทรกแซงเรื่องของเรา อย่างกรณีที่มีข่าวว่า มีการให้ทุนมาสร้างสุเหร่าต่างๆ ก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรด้วย ประเทศไทยเรากับมุสลิม เชื่อมกันได้อยู่แล้ว เพราะเราให้อิสระในการนับถือศาสนามาโดยตลอด

เปิดเบื้องลึก ทำไม ซาอุฯ ต้องการฟื้นสัมพันธ์กับไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวว่า “สถาบันพระปกเกล้า” อุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เคยเชิญไปเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยสถาบันส่งผมไปเป็น 1 ในตัวแทนพูดคุยกัน เมื่อปีที่แล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีการพูดคุยกันกว่า 3 ชม. ทำให้ไม่แปลกใจ ที่มีการยกระดับความสัมพันธ์กับไทยในขณะนี้ ซึ่งในการพูดคุยก็มีการบอกเขา ว่า “เรื่องในอดีตที่ขัดแย้งกันมา คงไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่เรื่องอนาคตสามารถร่วมกันสร้างได้” ซึ่งอุปทูตของเขาก็เห็นด้วย แต่ก็บอกว่าเรื่องในอดีตก็ไม่ควรลืม แล้วเขาก็เล่าถึงเจ้าชายมกุฎราชกุมารของเขา ว่า วิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน ปี 2030 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย แล้วก็บอกถึงท่าทีประเทศเขาที่จะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยเราในยุคใหม่ ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นการริเริ่มสร้างสัมพันธ์ใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ได้เป็นผลงานอะไรของใคร ในการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ทั้งหมดบอกได้สั้นๆ เพียงคำเดียว คงต้องรอดู หลังทั้ง 2 ประเทศฟื้นความสัมพันธ์เต็มรูปแบบแล้ว สถานการณ์จะเป็นเช่นไร ต่างฝ่ายต่างจะได้ประโยชน์ อย่างที่คาดหวังกันไว้หรือไม่   

แต่อย่างไร การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง “ราชอาณาจักรไทย กับ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย” มองมุมไหนก็เชื่อได้ว่า น่าจะดีกว่าต่างฝ่ายต่างลดความสัมพันธ์ ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกันอย่างแน่นอน  

หรือใครจะว่า…ไม่จริง!

ผู้เขียน: เดชจิวยี่

กราฟิก:Jutaphun Sooksamphun