ทำไม Kerry Express ในประเทศไทย ต้องรีแบรนด์เป็น KEX

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 วงการขนส่งไทยกระเพื่อมครั้งใหญ่ หลังมีข่าว SF THAILAND หรือ บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ KEX หรือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารขนส่งพัสดุสีส้มเจ้าดังอย่าง ‘Kerry Express’ อันเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดท้าย Kerry Express จะต้องรีแบรนด์ใหม่เป็น KEX

หลัง SF ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ KEX ในเวลาต่อมา Kerry Express ก็รีบออกแถลงการณ์ยืนยันว่ายังไม่ถูก SF เทคโอเวอร์ เพราะยังคงอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของการยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ แต่หลายคนก็มองว่าอย่างไรก็จะมีการเทคโอเวอร์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จนกระทั่งในวันที่ 26 มีนาคม 2567 Kerry Express จึงได้ออกประกาศในหัวข้อ “SF Express ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ครองสัดส่วน 62.66% พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเคอรี่ฯ ไปอีกขั้น” ในรายละเอียดอธิบายว่า ผลการยื่นเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) ทำให้ SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Kerry Express โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,091,818,327 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 62.66% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

พร้อมเสริมว่าการเข้ามาของ SF Express จะทำให้ Kerry Express ได้รับสนับสนุนทางด้านเงินลงทุน เทคโนโลยี และโนฮาวน์ต่างๆ เชื่อว่าจะนำผลเชิงบวกมาให้องค์กร

“คณะผู้บริหารของเคอรี่ฯ ทุกคน รู้สึกตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ SF Express ได้มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเรา เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความร่วมมือในการทำงานที่แน่นแฟ้นมากขึ้นของทั้งสองฝ่าย เคอรี่ฯ จะก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะสนับสนุนและมีความเชื่อมั่นว่าความแข็งแกร่งของ SF Express นั้น จะพาเราไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นอย่างแน่นอน” อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา (28 พฤษภาคม 2567) Kerry Express แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่อง ‘แผนปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (Rebranding) สู่แบรนด์ KEX และการได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจาก Kuok Registrations Limited’ ที่เป็นที่มาของการสิ้นสุดชื่อ Kerry Express ในประเทศไทยและจะต้องกลายเป็น KEX ในท้ายที่สุด

โดยเนื้อหาอธิบายว่า หลังจาก SF กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ส่งผลให้ บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมของบริษัทฯ สิ้นสุดการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และ Kerry Logistics Network Limited (KLN Group) สิ้นสุดการควบคุมไม่ว่าในทางใดก็ตาม หรือการถือซึ่งสิทธิในการออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมร้อยละห้าสิบ (50) หรือ มากกว่าในบริษัทฯ

ตอนนั้นเป็นเวลาที่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ได้พูดคุยกับSF และพบว่ามีความเป็นไปได้ในการสิ้นสุดในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ Kerry Express เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้น KEX และ SF ได้เจรจากับ Kuok Registrations Limited บริษัทแม่ของ Kerry Express ที่เป็นเจ้าของสิทธิชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ Kerry Express เกี่ยวกับการขยายสิทธิในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ Kerry Express จนเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดของบริษัท คือ การรีแบรนด์ เลิกใช้เครื่องหมายการค้าของ Kerry Express มาใช้แบรนด์ KEX แทน โดย SF ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า KEX เอาไว้ล่วงหน้าแล้วให้ KEX ได้ใช้แบรนด์ดังกล่าวเพื่อทำธุรกิจแทน

ต่อจากนั้นวันที่ 23 พ.ค. 2567 ทาง Kuok Registrations Limited ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า Kerry Express โดยบอกเลิกล่วงหน้าเป็นเวลา 9 เดือน และจะมีผลภายในวันที่ 22 ก.พ. 2568 ดังนั้น สิทธิในการใช้ชื่อ Kerry จะสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Kerry Express ในประเทศไทยจะต้องรีแบรนด์เป็น KEX ในที่สุด

ตอนนี้ KEX และ SF จึงอยู่ระหว่างการรีแบรนด์บริษัทใหม่ให้กลายเป็น KEX และเตรียมแผนเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดจากหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อไป

โดยไม่มีใครทราบว่าแล้วเจ้าของแบรนด์ Kerry Express จะกลับเข้ามาในไทยอีกไหม หรือในไทยจะไม่มีแบรนด์ Kerry Express ประกอบธุรกิจอีกแล้ว